Cover บทความ SEO คืออะไร

SEO คืออะไร? สรุปครบในบทความเดียว [พร้อมวิธีทำเบื้องต้น]

mins read   1stCraft Team

SEO คือ การปรับแต่งเว็บไซต์เพื่อทำอันดับบนหน้าเสิร์ช เพื่อให้เว็บไซต์ของคุณไปปรากฏเป็นผลการค้นหาอันดับหนึ่งหรือหน้าแรกของ Google 

ประโยชน์ของการทำ SEO คือ เพิ่มโอกาสให้คนเข้าเว็บไซต์ของเรามากขึ้น เมื่อคนเข้ามาเยอะก็จะเพิ่มโอกาสที่คนจะมารู้จักแบรนด์ ซื้อของ หรือติดต่อทำธุรกิจ จึงเป็นเหตุผลที่ธุรกิจไม่ควรพลาดทำ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่ไม่ว่าใครก็เสิร์ช ค้นหาสิ่งที่ต้องการ

ในมุมของธุรกิจ เราจะทำ SEO ไปทำไม ประโยชน์ของ SEO ต่อธุรกิจมีอะไรบ้าง แล้ววิธีการทำ SEO ต้องทำอะไรบ้าง ในบทความนี้มีสรุปให้คุณได้ครบจบ พร้อมวิธีทำเบื้องต้น เพื่อปูพื้นฐานให้เว็บไซต์ของคุณสามารถติดหน้าแรกได้เร็ว ถูกต้องและปลอดภัย

อ่านตามหัวข้อ

SEO คืออะไร? ส่งผลดีต่อธุรกิจบนช่องทางออนไลน์ได้อย่างไร?

SEO ย่อมาจาก Search Engine Optimization แปลออกมาสั้นๆ ได้ว่า การปรับแต่งให้เหมาะสมกับเครื่องมือค้นหา ซึ่งการปรับแต่งที่ว่าก็คือ การปรับแต่งเว็บไซต์ ที่ประกอบไปด้วย

  • การทำคอนเทนต์ 
  • การออกแบบเว็บไซต์ 
  • การปรับแต่งในเชิงเทคนิค 
  • การสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเว็บไซต์ 

โดยยิ่งปรับแต่งเว็บไซต์ได้เหมาะกับเครื่องมือค้นหา (Search Engine) หรือ Google ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้เว็บไซต์ทำอันดับได้ดีขึ้นบน Google 

ตัวอย่างผลลัพธ์จากการทำ SEO ทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับผลการค้นหาบน Google
ตัวอย่างผลลัพธ์จากการทำ SEO
ทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับผลการค้นหาบน Google

ในยุคดิจิทัล การทำ SEO ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์และช่องทางการตลาดที่ธุรกิจต้องทำ เพราะการทำ SEO ช่วยทำให้เว็บไซต์ติดอันดับดีๆ ที่เพิ่มโอกาสให้คนจะมาเจอเว็บไซต์ที่เปรียบเสมือนหน้าร้านหลักบนโลกออนไลน์ 

รวมไปถึง การทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับบนหน้าเสิร์ช (SEPRs) ยังเป็นวิธีการเข้าถึงลูกค้าที่เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะซื้อของ เลือกร้านใช้บริการหรือร้านอาหาร จะท่องเที่ยว หรือมีปัญหาอะไร ผู้คนก็จะ ‘เสิร์ช’ หาข้อมูลด้วยตัวเองก่อน 

นี่จึงเป็นโอกาสให้แบรนด์เข้าถึงผู้คนอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นการดึงดูดลูกค้าเข้ามาเอง และไม่ใช่การทำการตลาดที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกถูกรบกวน ทำให้ SEO เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของการทำ Inbound Marketing ที่เน้นการส่งมอบคุณค่า และแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงจุด

SEO vs SEM 

เมื่อพูดถึงการทำ SEO หากคุณ เสิร์ช เกี่ยวกับวิธีการทำ อีกคำศัพท์ที่ต้องเจออย่างแน่นอนก็คือ การทำ SEM ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่มีความหมายกว้างกว่า และการทำ SEO ก็คือ หนึ่งในการทำ SEM ด้วย

SEM กับ SEO ต่างกันอย่างไร?

SEM ย่อมาจาก Search Engine Marketing หมายความถึง การทำการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหา หรือ พูดง่ายๆ คือ การยิงโฆษณาออนไลน์ผ่านช่องทาง Google

ส่วน SEO หมายถึง การปรับแต่งเว็บไซต์ให้เหมาะกับเครื่องมือค้นหา โดย Google จะทำการจัดอันดับเว็บไซต์ที่มีคุณภาพตามคำค้นหานั้นๆ

SEO และ SEM ต่างกันยังไงบ้างในเชิงลึก? ถ้าอยากเข้าใจแบบเจาะลึกแนะนำให้อ่านบทความนี้ได้เลย SEO vs SEM เปรียบเทียบแบบไหนเหมาะกับธุรกิจคุณ?

จึงสรุปได้ว่า การทำ SEO เป็นส่วนหนึ่งของการทำ SEM หรือ 2 วิธีนี้มีส่วนเสริมซึ่งกันและกัน

การทำ SEM คือ การทำการตลาดบนหน้าเสิร์ช ซึ่งมีทั้งการทำ SEO (การปรับแต่งเว็บไซต์ให้ขึ้นอันดับโดยธรรมชาติ) และการทำ PPC (Pay Per Click – หมายถึง การซื้อตำแหน่งหรืออันดับเว็บไซต์ให้ปรากฏในอันดับแรกๆ หรือหน้าแรกๆ บน Search Engine) 

การทำ SEO เป็นส่วนหนึ่งของการทำ SEM
ขอบคุณภาพจาก ahrefs.com

อย่างไรก็ตาม สำหรับบางคนอาจแบ่งแยก SEO vs SEM โดยหมายความว่า

  • การทำ SEO คือ การทำให้เว็บไซต์ติดอันดับโดยธรรมชาติ (organic search) ไม่เสียเงินซื้อโฆษณากับ Google 
  • ส่วนการทำ SEM คือ การจ่ายเงินทำ PPC ซื้ออันดับบนหน้าเสิร์ช (paid search)

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำ SEO หรือ SEM ในความหมายใด ก็หมายถึงการทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับ Google เพื่อให้มีคนเข้าเว็บไซต์จำนวนมาก ให้เพิ่มโอกาสในการทำการตลาดและการขายให้กับธุรกิจต่อไป 

ทำไมธุรกิจถึงควรลงทุนทำ SEO

1. การทำ SEO ตอบโจทย์พฤติกรรรมการเสิร์ชของลูกค้า 

สถิติการเสิร์ชบน Google ต่อวัน
ขอบคุณภาพจาก oberlo.com

ไม่ว่าจะหาหรือก่อนจะซื้ออะไร คนในยุคนี้มักจะเสิร์ชหาข้อมูลเพื่อช่วยเข้าในการตัดสินใจก่อนเสมอ แถมยังกว่าการเดินไปหน้าร้านและสอบถาม ดังนั้น การทำ SEO หรือการทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับดีๆ ให้ลูกค้าเข้ามาเจอเว็บไซต์ อ่านคอนเทนต์ ได้ข้อมูลช่วยตัดสินใจ จึงตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เพิ่มโอกาสในการขาย โดยที่พนักงานขายอาจจะไม่ต้องทำงานเลยก็ได้

2. เข้าถึง ‘กลุ่มเป้าหมายที่ใช่’

คนจะเสิร์ชหาสิ่งที่เขาสนใจอยากได้ข้อมูล ดังนั้น หากเขาเสิร์ชมาเจอคอนเทนต์จากเว็บไซต์ของธุรกิจ แสดงว่า เขากำลังมีปัญหาที่ธุรกิจของเราอาจช่วยเขาได้ หรือเขากำลังสนใจมองหาทางแก้ปัญหาในเรื่องนั้นๆ อยู่ ธุรกิจก็สามารถสอดแทรกโปรดักต์หรือบริการ เสนอธุรกิจเป็นโซลูชันให้เขา เพิ่มโอกาสการขายได้มากกว่าการทำการตลาดแบบมวลชน (Mass Marketing) 

3. SEO เป็นการทำการตลาดที่ถูกและได้ผลยั่งยืน

การทำ SEO มีค่าใช้จ่ายที่ถูกมากๆ เมื่อเทียบกับการทำการตลาดเชิงแคมเปญ หรือการพึ่งพาการทำโฆษณา ซึ่งงบประมาณทำโฆษณาส่วนใหญ่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ การทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับยังสามารถนำพาลูกค้าหน้าใหม่เข้ามาหาธุรกิจได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องเสียเงินในการทำเพิ่ม มีเพียงการรักษาอันดับ ซึ่งใช้แรง เวลา และงบประมาณน้อยกว่าการทำโฆษณาหรือคิดแคมเปญกระตุ้นการขายใหม่ๆ มาก

องค์ประกอบในการทำ SEO มีอะไรบ้าง

3 องค์ประกอบสำคัญในการทำ SEO
3 องค์ประกอบสำคัญในการทำ SEO
ขอบคุณภาพจาก wordstream.com

การทำ SEO มีหลายเรื่องที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำคอนเทนต์ให้ถูกใจทั้งคนที่เข้ามาอ่านและอัลกอริทึม (Algorithm หรือ ระบบเรียนรู้ประมวลผลของ Search Engine) รวมไปถึงการปรับแต่งเว็บไซต์ในเชิงเทคนิคที่ทำให้ Search Engine เข้าใจเนื้อหาของเว็บไซต์และคัดเลือกไปนำเสนอให้ผู้เสิร์ช 

องค์ประกอบของการทำ SEO ประกอบไปด้วย 

  • การทำ On-page SEO เป็นการทำคอนเทนต์และการปรับแต่งบนหน้าเพจ
  • การทำ Off-page SEO เป็นการทำ SEO นอกเว็บไซต์ หรือการทำให้เว็บไซต์อื่นส่งลิงก์อ้างอิงกลับมาที่เว็บไซต์ของเรา เรียกว่าการทำ Backlink
  • การทำ Technical SEO เป็นการปรับแต่งเว็บไซต์ในเชิงเทคนิค

การทำ On-page SEO

การทำ On-page SEO หมายถึง การทำ SEO บนเว็บไซต์ของเราเอง ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราต้องทำ

โดยจุดประสงค์สำคัญของการทำ On-page SEO ได้แก่ 

1) การทำเว็บไซต์ให้เป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานและใช้งานง่าย 

2) การปรับแต่งเว็บไซต์ให้ Crawl Bot ของ Search Engine เข้าใจเนื้อหาบนหน้าเว็บได้ง่ายและชัดเจนที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสให้ Bot คัดเลือกเว็บไซต์ของเราไปจัดอันดับดีๆ 

ตัวอย่างกลยุทธ์การวางคีย์เวิร์ดบนหน้าเพจ
กลยุทธ์การทำ On-page SEO
ตัวอย่างกลยุทธ์การวางคีย์เวิร์ดบนหน้าเพจ
ขอบคุณภาพจาก wordstream.com

ตัวอย่างการทำ On-page SEO มีอะไรบ้าง?

  • การทำคอนเทนต์บนหน้าเว็บไซต์ การทำบล็อกบทความ (Blogging)
  • การเลือกใช้คีย์เวิร์ด (Keyword Research) และการวางคีย์เวิร์ดบนหน้าเว็บ
  • การใช้รูปภาพ การปรับแต่งรูปภาพให้เหมาะกับเว็บไซต์
  • การตั้งชื่อรูปภาพบนเว็บไซต์ (การตั้ง Alt text ในรูปภาพ)
  • การตั้งชื่อที่อยู่ลิงก์ หรือ URL
  • การตั้งชื่อหน้าเพจ หรือ SEO Title
  • การเขียนคำบรรยายหน้าเพจ หรือ Mete Description
  • การใช้ Heading หรือทำโครงสร้างเนื้อหา (Heading Tag)
  • ฯลฯ

การทำ Off-page SEO

การทำ Off-page SEO หมายถึง การทำ SEO จากเว็บไซต์อื่น โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า “การทำ Backlink” หรือการที่เว็บไซต์อื่นส่งลิงก์อ้างอิงกลับมาให้กับเว็บไซต์ของเรา 

การทำ Backlink หมายถึงอะไร?
ขอบคุณภาพจาก backlinko.com

ประโยชน์ของการทำ Backlink หรือ Off-page SEO คือ ทำให้ Crawler Bot ของ Google เห็นถึงความเกี่ยวข้องของเนื้อหา ผ่านการเข้าไปศึกษาเว็บไซต์ที่ส่งลิงก์มา และยังเพิ่มคะแนน Authority หรือความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์จากการที่มีเว็บไซต์อื่นแนะนำหรืออ้างอิงเว็บไซต์ของเรา

ความน่าเชื่อถือตรงนี้ (ที่วัดจากการมีเว็บไซต์อื่นอ้างอิง) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ Google มองว่า เว็บไซต์ของเรามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน จึงใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกและจัดอันดับ (Ranking) เว็บไซต์ให้ได้อันดับดีๆ มานำเสนอให้กับคนที่กำลังค้นหาเนื้อหาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์

ตัวอย่างเทคนิคการทำ Off-page SEO หรือการทำ Backlink

  • Guest Posting การไปเขียนบทความให้กับเว็บไซต์อื่น แล้วส่งลิงก์กลับมาที่เว็บไซต์ของเรา
  • Social Promotion การโปรโมตเว็บไซต์บนโซเชียลมีเดีย แชร์ลิงก์บนโซเชียล
  • Video การทำวิดีโอเผยแพร่บนช่องทางอื่น แล้วส่งลิงก์กลับมา
  • Infographic ทำอินโฟกราฟิกให้คนแชร์หรือเอาไปใช้ โดยให้ผู้ที่นำไปใช้ส่งลิงก์กลับมา
  • Press Release ทำสื่อหรือข่าวให้เว็บไซต์เจ้าอื่น โดยแทรกลิงก์ในเนื้อหากลับมาที่เว็บไซต์ของเรา

สรุปแนวคิดในการทำ Off-page SEO ง่ายๆ ก็คือ การทำอย่างไรก็ได้ให้มีคนพูดถึงเว็บไซต์ของเราบนโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก แล้วส่งลิงก์กลับมา นั่นเอง …เมื่อ Google เห็นว่า มีคนอ้างอิงหรือพูดถึงเราบ่อยๆ ก็แสดงว่าเว็บไซต์ของเราได้รับการยอมรับ น่าเชื่อถือ ส่งผลให้ Google อยากหยิบเว็บไซต์ขึ้นมาจัดอันดับให้คนเห็นมากขึ้น

การทำ Technical SEO

การทำ Technical SEO คือ การปรับแต่งเว็บไซต์ในเชิงเทคนิคเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเว็บไซต์ให้ Crawl Bot เข้ามาสำรวจและเข้าใจเว็บไซต์ว่าอะไรคืออะไร อะไรหมายถึงอะไรได้ง่ายขึ้น รวมถึงการปรับเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ผู้ใช้งานใช้งานได้รวดเร็ว ลื่นไหล เป็นองค์ประกอบของการทำ SEO ที่ต้องอาศัยความเรื่องทางเทคนิคและการโคดดิ้ง (Coding)

ตัวอย่างการทำ Technical SEO มีอะไรบ้าง?

  • การทำ SSL Certificate ให้เว็บไซต์ หรือการเปลี่ยน http:// ให้เป็น https:// ช่วยรับประกันว่า เว็บไซต์ใช้งานได้ปลอดภัย ผู้ใช้งานไม่ถูก ‘แฮก’ (hack) ข้อมูลระหว่างใช้งานเว็บไซต์
  • ทำเว็บไซต์ให้ใช้งานได้ลื่นไหล โหลดเร็ว เช่น เลือกใช้โฮสติ้ง (Hosting) ที่มีระบบที่ช่วยผู้ใช้งานเว็บไซต์อัปโหลด-ดาวน์โหลดเว็บไซต์ได้อย่างรวดเร็ว การปรับขนาดไฟล์รูปภาพและสื่อต่างๆ บนเว็บไซต์ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้หน้าเว็บโหลดเร็วขึ้น
  • การสร้างแผนผังเว็บไซต์ หรือ XML Sitemap จะช่วยให้ Crawler Bot ของ Search Engine หรือ Google เข้าใจโครงสร้างเนื้อหาของเว็บไซต์ได้ง่าย
  • การใช้ tag และ robot.txt เพื่อกำกับเนื้อหาหรือองค์ประกอบต่างๆ บนเว็บไซต์ เป็นการชี้บอก Crawl Bot ว่าอะไรเป็นอะไร หรือหมายถึงอะไร
  • การทำเว็บไซต์ให้แสดงผลรองรับกับการใช้งานบนอุปกรณ์พกพาหรือมือถือ (Mobile Responsive)

วิธีการทำ SEO ให้ติดหน้าแรก Google

วิธีการทำ SEO หรือวิธีทำเว็บไซต์ให้ติดหน้าแรกของ Google มีขั้นตอนมากมาย และมีหลากหลายสิ่งต้องทำ แต่หากจะสรุปขั้นตอนการทำ SEO ไกด์ไลน์สำหรับมือใหม่ เราพอสรุปวิธีทำ SEO ได้ดังนี้

  1. กำหนดกลุ่มเป้าหมายและเนื้อหาที่จะโฟกัส
  2. การทำ Keyword Research และวางแผนการใช้ Keyword บนเว็บไซต์
  3. การวางโครงสร้างเว็บไซต์ หรือ Site Structure พร้อมกับการวางแผนเนื้อหา
  4. การสร้างคอนเทนต์หรือเนื้อหาบนเว็บไซต์
  5. การปรับปรุงการใช้งานบนเว็บไซต์ (Website UX)
  6. การหา Backlink สร้าง Authority ให้กับเว็บไซต์
  7. การปรับแต่งเว็บไซต์ในเชิงเทคนิค (Technical SEO)

โดยรายละเอียดต่าง ๆ อธิบายวิธีการทำ SEO ด้านล่างนี้

1. กำหนดกลุ่มเป้าหมายและเนื้อหาหลักบนเว็บไซต์

เพื่อที่จะวางแผนทำ SEO ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำงานอย่างมีเป้าหมาย ก่อนเริ่มต้นทำ SEO ควรตั้งตอบคำถามธุรกิจ 2 ข้อต่อไปนี้ก่อน คือ

  1. กลุ่มเป้าหมายของเว็บไซจ์เป็นใคร? อาจเป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำธุรกิจหรือกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะสนใจธุรกิจของเรา
  2. เนื้อหาหลักบนเว็บไซต์จะเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร? ควรจะเป็นเนื้อหาที่กลุ่มเป้าหมายสนใจอ่านหรือต้องการคำตอบ โดยการกำหนดเนื้อหาหลักของเว็บไซต์ จะเป็นการกำหนดจากสิ่งที่ต้องการให้คนมองว่าแบรนด์เชี่ยวชาญเรื่องอะไร 

เมื่อตอบคำถามทั้งสองข้อนี้ได้ เราก็จะสามารถวางแผนการออกแบบเว็บไซต์ การวางแผน Keyword และแผนการทำคอนเทนต์ทำ SEO ต่อไปได้

2. ทำ Keyword Research 

การทำ Keyword Research คือ การค้นหาว่าผู้คนใช้คำหลัก (Keyword) อะไรในการค้นหาและคำหลักนั้นๆ มีปริมาณการค้นหา (Search Volume) มากแค่ไหน เพื่อจะได้คัดเลือกว่า ควรโฟกัสหรือลงแรงทำคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์คำหลักไหน 

ตัวอย่างการทำ Keyword Research ด้วย ahrefs
ตัวอย่างการทำ Keyword Research ด้วย ahrefs

เราจะทำ Keyword Research โดยการค้นหา 

1) คำที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา (Product & Related Topic Keywords) เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการซื้อหรือสนใจสินค้า 

2) สิ่งที่ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายน่าจะสนใจ (Customer Interest Keywords) เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มจะสนใจสินค้า หรือสามารถฟูมฟักให้สนใจอยากซื้อ

ยกตัวอย่างเช่น “ธุรกิจขายอุปกรณ์การแพทย์” ต้องการให้หน้าเพจหมวดสินค้าทำอันดับ อาจเริ่มต้นทำ Keyword Research จากคำเหล่านี้

  • Product & Related Topic Keywords: อุปกรณ์การแพทย์, เครื่องวัดความดัน, เตียงคนไข้, เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย
  • Customer Interest Keywords: วิธีวัดความดันที่บ้าน, วิธีเลือกเตียงคนไข้, โรคความดันโลหิตสูง

3. วาง Site Structure

ขอบคุณภาพจาก backlinko.com

หลังจากได้ Keyword list ที่จะใช้สำหรับทำคอนเทนต์บนหน้าเว็บแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การวางแผนผังเว็บไซต์ หรือ “Site Structure” แล้วจับคู่ Keyword กับหน้าเพจต่างๆ หรือที่เรียกกันว่าการทำ “Keyword Matching” 

โดยหน้าที่ของ Site Structure จะบอกอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือ

  1. บอกว่า หน้าเพจแต่ละหน้านำเสนอเนื้อหาอะไร หัวข้อใด (เราเอา Keyword มาจับคู่กับหน้าเพจ)
  1. บอกว่า หน้าเพจแต่ละหน้าภายในเว็บไซต์เชื่อมโยงกันอย่างไร (เพจไหนเป็นหัวข้อหลัก เพจไหนเป็นหัวข้อรอง) หรือการแบ่ง Catagory เนื้อหา

แผนผังเว็บไซต์ หรือ Site Structure ที่ดี ส่งผลต่อการติดอันดับ Google โดยลักษณะของแผนผังเว็บไซต์ที่ดีจะต้องเรียบง่าย มีโครงสร้างชัดเจน ไม่ซับซ้อน และโครงสร้างไม่ควรมีมากเกิน 3 – 5 ชั้น (เหมือนรูปตัวอย่าง)  

ถ้าโครงสร้างเว็บดี นอกจาก Crawl Bot จะเก็บข้อมูลง่ายแล้ว ผู้ใช้งานเว็บไซต์ก็จะหาสิ่งต่างๆ ได้ง่ายเช่นกัน โดยการเลือกดูหน้าเพจที่สนใจจากหน้าเพจ Category ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือประเด็นที่สนใจ 

4. สร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย

ตัวอย่างการใส่ Headling Tag หรือโครงสร้างบทความ
ตัวอย่างการใส่ Headling Tag หรือโครงสร้างบทความ
ขอบคุณภาพจาก wordstream.com  

คนเสิร์ช Google ก็เพื่อหาอ่านเนื้อหาอ่านหรือหาข้อมูลบางอย่างที่ตอบข้อสงสัยของเขา ดังนั้น เนื้อหาบนเว็บไซต์ของเราจึงต้องสามารถให้ข้อมูลหรือตอบโจทย์ความสงสัยของเขาได้ ซึ่งการทำ Keyword Research ช่วยให้เรารู้ว่า ผู้คนสงสัยหรืออยากรู้เรื่องอะไรอยู่ ก็สามารถนำ Keyword มาตั้งเป็นหัวข้อในการทำคอนเทนต์ได้

และนอกจากคอนเทนต์บนเว็บไซต์จะต้องตอบข้อสงสัยของเขาแล้ว คอนเทนต์ที่ทำยังต้องเป็น “คอนเทนต์คุณภาพ” อีกด้วย เพราะเรากำลังแข่งขันเนื้อหากับเว็บไซต์อื่นๆ หากคอนเทนต์ของเรา ให้ข้อมูลได้ตรงกว่า ละเอียดกว่า ช่วยเหลือเขาได้มากกว่า ก็มีแนวโน้มที่คนจะชอบและอัลกอริทึมของ Google จะช่วยดันเว็บไซต์ของเราให้ขึ้นอันดับสูงขึ้น 

ทั้งนี้ มีอีกทริกของต้องทำเพื่อเพิ่มโอกาสไต่อันดับ SEO คือ การปรับแต่งทำ On-page SEO เช่น การใส่ Headling Tag ทำโครงสร้างเนื้อหาให้ Bot เข้าใจง่ายๆ, การกระจาย Keyword ที่เกี่ยวข้องบนหน้าเพจ, การตั้งชื่อหน้าเพจ หรือ SEO Title, การเขียนคำบรรยายหน้าเพจ หรือ Meta Description ฯลฯ

5. ปรับปรุงเว็บให้ใช้งานง่าย (Website UX Optimization)

การปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ให้เหมาะกับอุปกรณ์พกพา (Mobile Resposive)
การปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ให้เหมาะกับอุปกรณ์พกพา (Mobile Resposive)
ขอบคุณภาพจาก tranzzo.com

อีกปัจจัยข้อสำคัญในการจัดอันดับเว็บไซต์ของ Google คือ เรื่องของ UX: User Experience หรือประสบการณ์ใช้งานบนเว็บไซต์ 

เว็บไซต์ของเราควรจะใช้งานง่าย ลื่นไหล ไม่สะดุด โดยองค์ประกอบหลักๆ ที่ควรปรับแต่งเพื่อเพิ่มคะแนนในฝั่ง Website UX ได้แก่

  • การออกแบบเว็บไซต์ที่สวยงาม น่าใช้ และน่าเชื่อถือ
  • Navigation หรือเมนูต่างๆ บนเว็บไซต์เข้าใจง่าย หาอะไรก็เจอ
  • เน้นการเพิ่มความเร็วดาวน์โหลดเว็บไซต์ ผ่านการเลือก Hosting, การทำเว็บไซต์ให้เรียบง่าย, การย่อขนาดไฟล์รูปภาพ ฯลฯ
  • การทำเว็บไซต์ให้รองรับการใช้งานบนอุปกรณ์พกพาหรือมือถือ แสดงผลเว็บไซต์ได้เหมาะกับหน้าจอของสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต, ระยะห่างระหว่างปุ่มพอดี เลือกสัมผัสปุ่มได้ง่าย, ขนาดตัวอักษรเหมาะกับการอ่านบนมือถือ ฯลฯ
  • การเพิ่ม User Signal เช่น ทำให้ผู้ใช้งานอยู่บนเว็บไซต์นานขึ้น, คลิกหรือเข้าไปหน้าเพจอื่นๆ บนเว็บไซต์ ฯลฯ

ปัจจัยสำคัญที่ Google ใช้ในการให้คะแนนและจัดอันดับเว็บไซต์ คือ เรื่องของความน่าเชื่อถือ หรือ Domain Authority ซึ่งมีวิธีการวัดและให้คะแนนจากหลายส่วน แต่ส่วนที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก คือ เรื่องของการได้รับการอ้างอิงจากเว็บไซต์อื่น หรือ “Backlink” ด้วยการที่เว็บไซต์อื่นลิงก์มาหาเว็บไซต์ของเรา

แต่ก็ใช่ว่า ยิ่งมี Backlink เยอะๆ จะเป็นเรื่องดีเสมอไป เพราะ Google ก็จะตรวจสอบ เข้าไป crawl เว็บไซต์ที่ลิงก์มาหาเราด้วยว่า เว็บไซต์เหล่านั้นมีลักษณะอย่างไร โดยเว็บไซต์ที่เหมาะทำ Backlink ควรมีลักษณะ ดังนี้

  • Backlink มาจากเว็บไซต์ที่มี Authority สูง หมายถึง เว็บไซต์ที่ได้รับความน่าเชื่อถือสูง มีคนอ่านเยอะ มีคนอ้างอิงบ่อย (ลองเช็ก Domain Authority ของเว็บไซต์ต่างๆ ที่นี่)
  • Backlink มาจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง เช่น เราทำเว็บไซต์ธุรกิจขายอุปกรณ์การแพทย์ Backlink ควรมาจากเว็บที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ไม่ใช่มาจากเว็บไซต์เกี่ยวกับเกม
  • Backlink มาจากเว็บไซต์ที่มีคนใช้งานจริง ไม่ใช่เว็บไซต์ที่สร้างขึ้นมาหลอกๆ เพื่อทำ Backlink มาหาเว็บไซต์หลัก ต้องเป็นเว็บที่มีคนเข้าใช้งานเรื่อยๆ

ส่วนเทคนิคในการหา Backlink ก็คือ การทำอย่างไรก็ได้ให้มีส่งลิงก์มายังเว็บไซต์ของเรา เช่น ทำรูปภาพหรือ Infographic ให้คนเอาไปใช้แล้วส่งลิงก์กลับมา, อาสาไปเขียน Guest Blog ให้กับเว็บไซต์เจ้าอื่น, การทำวิดีโอไปแชร์ยังแพลตฟอร์มต่างๆ แล้วส่งลิงก์กลับมา ฯลฯ

7. ปรับแต่งเรื่อง Technical SEO

เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานให้กับผู้เข้าชมเว็บไซต์
การทำ SSL Certificate เปลี่ยน http:// เป็น https://
เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานให้กับผู้เข้าชมเว็บไซต์
ขอบคุณภาพจาก rankwatch.com

องค์ประกอบในการทำ SEO ได้แก่ On-page SEO, Off-page SEO และ Technical SEO 

สำหรับวิธีทำ SEO ขั้นตอนที่ผ่านมาเราทำ SEO ทั้งบนและนอกเว็บไซต์ของเรามาแล้ว อีกสิ่งเดียวที่เหลือก็คือ การทำ Technical SEO หรือการปรับแต่งเว็บไซต์ในเชิงเทคนิค 

โดยหน้าที่นี้ คุณอาจจะทำเองหรือมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ Programmer หรือ Website Developer เพราะจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องของเว็บไซต์และโค้ดดิ้ง (coding) อย่างไรก็ตาม คุณสามารถนำหัวข้อเหล่านี้ไปเป็น Checklist ในการร่วมงานกับ Website Developer ได้ 

Checklists สำคัญในการทำ Technical SEO ได้แก่

  • ทำหน้า 404 page not found
  • ปรับแต่งเพิ่มความเร็วเว็บไซต์ (Page speed)
  • ทำ Lazy load ให้รูปภาพค่อยๆ โหลด ค่อยๆ แสดงผลเฉพาะส่วนที่ดูอยู่
  • ปรับแต่งชื่อที่อยู่เว็บไซต์ หรือทำ URLs Friendly
  • ทำเว็บไซต์ให้เป็น https:// หรือทำ SSL Certificate
  • ทำ Robots.txt ให้ Crawl Bot เข้ามาสำรวจเว็บไซต์ได้ง่ายๆ
  • ตรวจสอบหน้าเพจที่พัง (Site Error)
  • ทำ XML sitemap ให้ Crawl Bot เข้าใจโครงสร้างเว็บไซต์
  • ทำ Breadcrumb menus เพื่อให้ทั้งผู้ใช้งานเว็บไซต์และ Crawl bot สำรวจเว็บไซต์ได้ง่ายๆ
  • ทำ Canonical url สำหรับหน้าเพจที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นหน้าเพจคัดลอก (Duplicate Page) 
  • ฯลฯ

สรุปแล้ว SEO คืออะไร จำเป็นกับธุรกิจอย่างไรบ้าง?

SEO คือ การทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับบน Search Engine หรือ Google เพื่อเพิ่มโอกาสที่คนจะเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์มากขึ้น ทำให้การทำ SEO เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญ ใช้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำผ่านการทำคอนเทนต์ การทำเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์สิ่งที่กลุ่มเป้าหมายสงสัยหรือต้องการข้อมูล

ธุรกิจในยุคดิจิทัล ใช้วิธีการทำเว็บไซต์และ SEO เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญการทำการตลาดออนไลน์ เพราะประโยชน์ของ SEO ช่วยทำให้ลูกค้าเข้าใจโปรดักต์และบริการของธุรกิจมากขึ้น เป็นการเข้าถึงลูกค้าแบบ Inbound ตรงกับพฤติกรรมของผู้คนที่มักจะเสิร์ชหาสิ่งที่ต้องการก่อนตัดสินใจ นอกจากนี้ การทำ SEO ยังให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน สามารถนำลูกค้ามาให้ธุรกิจได้เรื่อยๆ และใช้งบการตลาดน้อยกว่าการทำการตลาดแบบดั้งเดิม

หากคุณต้องการให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มลูกค้าบนโลกออนไลน์ สร้างผลลัพธ์ทางการตลาดได้อย่างยั่งยืน  1stCraft เรามีโซลูชัน Digital Crafter ที่ช่วยแนะนำและช่วยคุณทำ SEO และการตลาดออนไลน์อย่างยั่งยืนแบบครบวงจร 

ติดต่อเราเพื่อปรึกษาสิ่งที่คุณต้องการทำให้กับธุรกิจ เรายินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย