1stcraft-cover-บทความอุตสาหกรรม 4.0

อุตสาหกรรม 4.0 คืออะไร? ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

mins read   1stCraft Team

ในประเทศไทยยุคนี้ แทบทุกอย่างล้วนถูกตั้งเลขให้เป็น 4.0 อุตสาหกรรมก็เช่นกัน หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของอุตสาหกรรม 4.0 มาบ้างไม่มากก็น้อย

แต่อะไรกันแน่ที่เป็นอุตสาหกรรม 4.0 แล้ว 1.0, 2.0 และ 3.0 นั้นไปไหน บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึกกับเป้าหมายของอุตสาหกรรมยุคใหม่ ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องและช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ง่ายขึ้น และย้อนกลับไปดูว่า อะไรคือที่มาที่ทำให้อุตสาหกรรมพัฒนามาจนถึงขั้นนี้ได้ 

ทำความรู้จักกับอุตสาหกรรม 4.0

รูปภาพภายในบทความอุตสาหกรรม 4.0

หากอ้างอิงจากเอกสารเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคต่างๆ เราสามารถนิยามอุตสาหกรรมในแต่ละยุคสมัยได้ดังนี้ 

อุตสาหกรรม 1.0

ยุคของเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องกลไอน้ำ เป็นยุคแรกเริ่มที่ผู้คนเริ่มใช้เครื่องมือมาทุ่นแรงมนุษย์และสัตว์ เกิดแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในโรงงานโดยมีมนุษย์เป็นเพียง ‘ส่วนหนึ่ง’ ของโรงงาน

อุตสาหกรรม 2.0

ยุคของเครื่องจักรพลังงานไฟฟ้า เปลี่ยนผ่านจากการใช้ไอน้ำ ถ่านหิน และพลังงานน้ำ เข้าสู่ระบบไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ มีการขยายคุณภาพและปริมาณการผลิตในโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ช่วยให้ราคาสินค้าโดยรวมลดลง แต่ยังมีความยุ่งยากในการทำงานไม่ต่างกับสมัยก่อนนัก

อุตสาหกรรม 3.0

ยุคของอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ นี่อาจเป็นยุคที่คนสมัยนี้คุ้นเคยที่สุด คือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมเครื่องจักรต่างๆ เปลี่ยนระบบการผลิตเข้าสู่การผลิตด้วยหุ่นยนต์แทนแรงงานคน สามารถทำงานได้ละเอียดและแม่นยำกว่าเดิม โดยใช้คนเข้ามาควบคุมน้อยกว่าเดิมเป็นอย่างมาก

อุตสาหกรรม 4.0

อุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นยุคที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้าร่วมกับอุตสาหกรรมเดิมและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น สามารถผลิตสินค้าจำนวนมากในโรงงานได้โดยใช้คนควบคุมเพียงคนเดียวหรือไม่มีเลย แทบทุกอย่างในอุตสาหกรรมจะทำงานในรูปแบบของ Internet of Things (IoT) รวมถึงใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการบริหารภายใน ไม่ว่าจะเป็นระบบ ERP ระบบการจัดการคลังสินค้า และระบบอื่นๆ

สิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรม 4.0 พิเศษกว่ายุคสมัยอื่น คือมีการพัฒนาด้านการบันทึกข้อมูล จัดสรรข้อมูล และทรัพยากรต่างๆ เข้ามาร่วมในตัวอุตสาหกรรมด้วย ทำให้งานทุกอย่างสามารถดำเนินไปได้ง่ายขึ้น ละเอียดขึ้น และสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนงานต่างๆ ได้ในทันท่วงที

เป้าหมายของอุตสาหกรรม 4.0 

‘ข้อมูล’ คือหนึ่งในแกนหลักสำคัญของอุตสาหกรรม 4.0

หลายคนอาจสงสัยว่า อ้าว อินเทอร์เน็ตต่างหากที่สำคัญกว่า ถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ตจะเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างไร

คำกล่าวข้างต้นนั้นถูกแค่เพียงครึ่งเดียว เพราะข้อมูลคือหนึ่งในแก่นหลัก และอินเทอร์เน็ตก็มีหน้าที่ในการ ‘ขนส่งข้อมูล’ เหล่านี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมโรงงานสามารถบริหารตั้งแต่บนลงล่างได้อย่างราบรื่นที่สุด นั่นเป็นเหตุผลที่โรงงานของอุตสาหกรรม 4.0 มักถูกเรียกอีกรูปแบบหนึ่งว่า Smart Factory

ดังนั้นเป้าหมายที่แท้จริงของอุตสาหกรรม 4.0 คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นประโยชน์สูงสุด เพื่อพัฒนาการผลิต เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการภายในองค์กร สั้นๆ คือการ Transform โรงงานของท่านให้เป็น Digital มากขึ้น

ไม่น้อยไป ไม่มากไป ทำอย่างไรจึงได้กำไร ข้อมูลความชอบของลูกค้าเป็นแบบไหน ทำแบบไหนจึงจะประหยัดเวลาและคนมากที่สุด ไปจนถึงทำอย่างไรให้มีของเสียในระบบน้อยที่สุด ทุกอย่างล้วนมีข้อมูลเป็นแกนกลางแทบทั้งสิ้น อุตสาหกรรมนี้จะกลายเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเลยหากเราไม่ได้ประยุกต์ใช้ข้อมูลทั้งหมดให้เป็นประโยชน์ ดังนั้นการที่เราจะได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำมาวิเคราะห์ต่อยอด เราจึงต้องมี ‘ระบบ’ ที่ดีเสียก่อน มีระบบในการเก็บข้อมูล ระบบในการบริหารภายในโรงงาน ซึ่งระบบที่โรงงานทุกโรงงานในยุคปัจจุบันควรให้ความสนใจคือ ‘ระบบ ERP’ หากคุณอยากทราบว่าระบบ ERP มีประโยชน์ยังไงกับธุรกิจคุณบ้างสามารถอ่านบทความเราได้เลย

การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 

เราจะเตรียมตัวอย่างไรเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 การเตรียมตัวนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบตามแต่ว่าเราเป็นใคร เป็นผู้ประกอบการหรือบุคลากรทั่วไป เพราะสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก

ผู้ประกอบการ 

ศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาโรงงานของตนเอง ในกรณีที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ติดตามข่าวสารรวมถึงศึกษาการทำงานต่างๆ ของระบบในโรงงานอุตสาหกรรมยุคใหม่ เช่น Internet of Things, Big Data และ Cloud Computing

มองภาพกว้างของการทำงานให้ชัดเจน หลายคนคิดว่าการติดตั้งอุปกรณ์มากมายจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เข้าสู่ยุค 4.0 ได้ง่ายขึ้น แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ การรู้จักการทำงานในโรงงาน ว่าข้อมูลด้านไหนสำคัญ ไม่สำคัญ เราต้องใช้ข้อมูลใดในการวิเคราะห์ และการดำเนินงานโรงงานจะเป็นไปในทิศทางไหน เรื่องดังกล่าวสำคัญมากกว่า เพราะอย่างที่บอกไป ‘ข้อมูล’ คือแกนหลัก

หลังจากนั้นคือการเปลี่ยนผ่านระบบต่างๆ ปรับปรุงโรงงานหรือเครื่องจักรในอุตสาหกรรมของตนเองเท่าที่งบประมาณ ณ เวลานั้นเอื้ออำนวย พร้อมกับใช้ข้อมูลและปัจจัยต่างๆ ที่มีอยู่ให้สมดุล ผลักดันสิ่งที่มีประโยชน์กับอุตสาหกรรมของตนเองให้มากที่สุด

บุคลากร

ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 ในด้านที่เกี่ยวกับตนเอง ทั้งการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี IoT การวิเคราะห์ข้อมูลหรือควบคุมเครื่องจักรแบบง่ายๆ 

อีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ ‘ภาษา’ แม้จะกล่าวถึงอุตสาหกรรม แต่อย่าลืมว่าการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค 4.0 แสดงว่าอุปกรณ์ทั้งหลายจะเริ่มถูกพัฒนาให้คนใช้งานได้ง่ายขึ้น และภาษาอังกฤษมักเป็นตัวกลางสำคัญในการทำงานกับเครื่องจักร ดังนั้นการเตรียมตัวโดยการฝึกภาษาที่ใช้งานในโรงงานไว้บ้างก็เป็นสิ่งที่สมควร

ท้ายสุดแล้วคือการยอมรับ การเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างไรก็หมายความว่ามีบางตำแหน่งที่ไม่ได้ไปต่อในยุคนี้ หากเราเป็นสายงานที่สามารถทดแทนได้ด้วยเครื่องจักร หรือเป็นสายงานที่ทำงานซ้ำๆ เดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ควรระมัดระวังในการทำงาน อาจเป็นการศึกษาหาความรู้เพิ่มเพื่อก้าวไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้น หรือเตรียมตัวในการหาช่องทางอื่นๆ เพื่อทำงานที่ตนเองสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ระวังผลกระทบจากการเข้าสู่ยุค 4.0

การเปลี่ยนแปลงเปรียบเสมือนการกดดันคนในระบบให้ต้องเปลี่ยนตาม แต่อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรม 4.0 ในประเทศไทยเองก็ยังมีช่องว่างอยู่มาก ทั้งการประยุกต์ใช้อุปกรณ์และข้อมูลอย่างเป็นระบบและการวางแผนจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ที่อาจมีต้นทุนจำกัด

ดังนั้นแผนการทั้งหมดที่ว่ามาควรเน้นไปในการศึกษา วางแผน และทยอยพัฒนาตามความสามารถในการแข่งขันของโรงงานตนเอง แต่ไม่ได้ถึงกับหยุดชะงักไปเลย บางบริษัทนั้นเร่งจะเข้ายุค 4.0 พยายามใช้อินเทอร์เน็ตเข้าร่วมกับทุกอย่างมากเกินไป โดยที่บุคลากรตามไม่ทัน สุดท้ายผลที่ได้ก็คือไม่สามารถเก็บข้อมูลและพัฒนาโรงงานได้ดังหวัง เพราะคนไม่เข้าใจว่าจะพัฒนาทำไม

ดังนั้นการเตรียมตัวทั้งหมด เช่น การเปลี่ยนจากบริหารคลังสินค้าผ่านโปรแกรม Excel มาเป็นใช้ระบบคลังสินค้าแทน และอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจกับคนของเราด้วยว่า การพัฒนาทั้งหมดนั้นมีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อบริษัทหรือโรงงานของเราในทางบวกอย่างแท้จริง

สรุป

อุตสาหกรรม 4.0 เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและระบบดิจิทัลต่างๆ เข้ามาทำงาน เพื่อสามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้น ทำงานได้ละเอียด หลากหลาย ใช้คนน้อยลง ซึ่งการปรับตัวนั้นต้องค่อยๆ ทำการศึกษาเรียนรู้ และทำความเข้าใจกับคนในโรงงาน เพื่อการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนที่สุด

สำหรับท่านใดที่สนใจเปลี่ยนอุตสาหกรรมตนเองเป็นแบบอุตสาหกรรม 4.0 ทางเรา 1stCraft ยินดีให้คำปรึกษา เราได้ทำการปรับเปลี่ยนโรงงานหลายโรงงานให้มาใช้ระบบมากขึ้นทั้งทางด้านการตลาดและการบริหารภายใน หากคุณสนใจบริการระบบ ERP สำหรับโรงงานโดยเฉพาะสามารถปรึกษาเราได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

บริการ ERP Crafter - 1stCraft Digital Solutions