Cover บทความ HIS คืออะไร

ระบบ HIS คืออะไร? พร้อมประโยชน์แบบเจาะลึก

mins read   1stCraft Team

HIS (Hospital Information Systems) หรือ ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล เป็นหนึ่งในระบบการจัดการโรงพยาบาล (HMS) ที่ช่วยในการจัดเก็บ จัดการ และส่งต่อข้อมูลจำนวนมากทั้งจากภายในและภายนอกโรงพยาบาล ให้ผู้บริหารสามารถจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ของโรงพยาบาลได้อย่างคุ้มค่า เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานและการรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว และทันสมัย

มาทำความรู้จักกับระบบ HIS ที่ใช้จัดการข้อมูลในโรงพยาบาล คืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง พร้อมทั้งประโยชน์ในการใช้งานที่คุ้มค่า

ทำความรู้จักกับระบบ HIS

ทำความรู้จักกับระบบ HIS

ระบบ HIS (Hospital Information Systems) หรือ ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เข้ามาเป็นเครื่องมือในการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อให้แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยทั้งจากฐานข้อมูลของโรงพยาบาล หรือจากสถานบริการสุขภาพอื่นๆ เพื่อวางแผนการรักษา ประเมินรูปแบบการดูแลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว

รวมถึงใช้ในการดำเนินงานของแต่ละแผนกภายในโรงพยาบาล ให้เกิดระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และประสานงานกันได้อย่างเป็นระบบ เช่น 

  • ระบบการรักษาพยาบาล
  • ระบบตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • ระบบเอกซ์เรย์
  • ระบบโภชนาการ
  • ระบบบำรุงรักษา
  • ระบบเภสัชกรรม
  • ระบบสังคมสงเคราะห์
  • ระบบงานคลัง
  • ระบบบุคลากร

เทคโนโลยีสารสนเทศประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

สิ่งที่จะทำให้การทำงานของระบบ HIS สมบูรณ์ได้ เกิดจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ประกอบไปด้วย 4 อย่าง ซึ่งทำงานร่วมกันแล้วเกิดเป็นระบบการงาน และช่วยมอบความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยี ได้แก่

1. Hardware 

หรืออุปกรณ์ไอทีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, โน้ตบุ้ค, สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, เครื่องแม่ข่าย (Server), เครื่องลูกข่าย (Clients) รวมไปถึงระบบเครือข่าย (Network) ที่ทำงานร่วมกันอยู่

2. Software 

โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

  • ระบบปฏิบัติการที่ทำงานอยู่ภายใน Hardware เช่น Windows, macOS,  Linux ที่ใช้งานบนคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ้ค รวมถึง Android และ iOS ที่ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต นอกจากนี้ยัง
  • โปรแกรมอรรถประโยชน์ (Utility Program) ที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะไม่ใช่โปรแกรมใช้งาน หรือโปรแกรมที่ผลิตงานออกมาด้วยตัวเองได้ แต่ช่วยให้การใช้โปรแกรมอื่นสะดวกขึ้น เช่น โปรแกรมจัดการไฟล์ (File Manager), โปรแกรมจัดเรียงพื้นที่เก็บข้อมูล ( Disk Defragmenter),โปรแกรมป้องกันไวรัส (Anti Virus Program), โปรแกรมบีบอัดไฟล์ (File Compression Utility) เป็นต้น
  • โปรแกรมประยุกต์ (Application) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูล ซึ่งสำหรับโปรแกรมสำหรับระบบโรงพยาบาล เช่น Hospital Information System (HIS), Electronic Medical Records (EMR), Enterprise Resource Planning (ERP) เป็นต้น

3. Peopleware 

หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งานระบบทั้งหมดซึ่งมีทั้ง ผู้จัดการระบบ, นักวิเคราะห์ระบบ, โปรแกรมเมอร์ รวมไปถึง User หรือผู้ใช้งานระบบตามหน้าที่ประจำวันของตนเอง 

สำหรับระบบโรงพยาบาลผู้ใช้งาน (User) จะเป็น แพทย์ พยาบาล รวมถึงบุคลากรที่ทำงานภายในโรงพยาบาลในทุกแผนก

4. Data 

หรือข้อมูลทั้งหมดภายในโรงพยาบาลที่ถูกจัดเก็บเอาไว้ในระบบ เช่น ข้อมูลประวัติผู้ป่วย, ข้อมูลทางการแพทย์, ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ, ข้อมูลเกี่ยวกับยา เป็นต้น

การทำระบบ HIS มีประโยชน์อย่างไร

การบริหารข้อมูลจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับ การลงบันทึก การจัดเก็บข้อมูล หรือสรุปรายงาน เป็นงานที่ใช้ระยะในการทำงานที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่อย่าง “โรงพยาบาล” ที่มีการบันทึกและใช้งานข้อมูลจำนวนมาก 

หากจะวิธีการบันทึกข้อมูลแบบดั้งเดิมหรือ Manual ก็ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดพลาด ของการจัดการข้อมูลเกิดขึ้น รวมไปถึงการทำงานร่วมกันภายในองค์กรก็จะเป็นไปอย่างล่าช้า

ทำให้การวางระบบ HIS หรือระบบสารสนเทศโรงพยาบาล เข้ามาช่วยในจัดการข้อมูลด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ผลลัพธ์ของการทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาในการทำงานด้านเอกสาร รวมไปถึงการให้บริการกับประชาชนที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย

ประโยชน์ของการใช้งานระบบ HIS (Hospital Information Systems)

  • การร่วมมือกับหน่วยงานด้านสุขภาพภายนอก เพราะโดยปกติแล้วผู้ป่วยแต่ละคน ก็จะมีการเข้ารักษากับโรงพยาบาล หรือหน่วยงานดูแลสุขภาพหลายที่ ทำให้ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยอยู่กระจัดกระจายตัวออกไป ระบบ HIS จึงเข้ามาช่วยเหลือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและบันทึกสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยระหว่างหน่วยงานได้
  • อำนวยความสะดวกในการจัดทำข้อมูลของแต่ละแผนก เช่น เอกสารรายงาน สำหรับรายแผนก ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี
  • ช่วยให้การดำเนินงานในแต่ละวันของบุคลากรในโรงพยาบาลเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น ทำตารางผ่าตัด ตารางเวรขึ้นปฏิบัติงาน ตารางคลินิกประจำวัน 

องค์ประกอบของระบบสารสนเทศโรงพยาบาล

ระบบสารสนเทศโรงพยาบาลหรือ HIS ช่วยในการสรุปข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้บริหารได้รับทราบข้อมูลต่างๆ สำหรับใช้วางแผนการพัฒนาวางแผนกลยุทธ์ วางแผนดำเนินการ วางนโยบายในการปรับปรุง พัฒนาหน่วยงาน และองค์กรต่อไปในอนาคตได้

โดยองค์ประกอบของระบบ HIS แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มงานใหญ่ ซึ่งได้แก่

  1. ด้านการรักษาพยาบาล
  2. ด้านการบริหารและวิชาการ
  3. ด้านวิศวกรรมการแพทย์

1. ด้านการรักษาพยาบาล

ช่วยอำนวยความสะดวกทั้งกับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ในการเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ป่วยแต่ละราย จากแต่ละแผนกที่ผู้ป่วยเกี่ยวข้องหรือต้องใช้บริการ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกต่อทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ให้ปฏิบัติงานได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 

  • ระบบงานเวชระเบียนและสถิติ 
  • ระบบงานผู้ป่วยนอก 
  • ระบบงานผู้ป่วยใน 
  • ระบบงานเภสัชกรรม 
  • ระบบงานพยาธิวิทยา/ ระบบงานชันสูตร 
  • ระบบรังสีวิทยา ระบบงานห้องผ่าตัดและวิสัญญี 
  • ระบบงานประกันภัยสุขภาพและประกันสังคม 
  • ระบบงานหน่วยจ่ายกลาง 
  • ระบบงานธนาคารโลหิต 
  • ระบบงานการเงินผู้ป่วย 
  • ระบบงานควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล 
  • ระบบงานหน่วยขนย้ายผู้ป่วย

ความเกี่ยวข้องกันของข้อมูลผู้ป่วยในระบบ HIS

สำหรับงานบริการผู้ป่วยที่เกี่ยวกับ เวชระเบียน และข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบ HIS (Hospital Information System) หรือระบบสารสนเทศโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลบางประเภทผู้ป่วยจะมีสิทธิ์ในการเข้าถึงได้ และจะมีการทำงานที่สอดคล้องกันไป ประกอบไปด้วย

ตัวอย่างความเกี่ยวข้องกันของข้อมูลผู้ป่วยในระบบ HIS
ขอบคุณรูปภาพจาก THIS

1.1 EHR (Electronic Health Records) 

ระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ ที่นอกจากบันทึกประวัติผู้ป่วยแล้ว ยังรวมถึงบันทึกการดูแลรักษา ผลตรวจ และยังครอบคลุมไปถึงข้อมูลสุขภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ด้วย 

โดยเมื่อต้องการใช้ข้อมูลเพื่อรับบริการด้านการดูแลรักษา ระบบนี้จะทำการดึงข้อมูลของผู้ป่วยทั้งจากฐานข้อมูลของโรงพยาบาล หรือจากสถานที่ให้บริการด้านสุขภาพจากที่อื่นมาใช้ได้ จึงช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถรับรู้ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย และให้การรักษาที่ถูกต้องได้

1.2 EMR (Electronic Medical Record) 

เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการจัดเก็บข้อมูลประวัติการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลหรือสาธารณสุขแต่ละแห่ง ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยข้อมูลนี้จะใช้ในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนระหว่างสถานพยาบาล เพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น

ข้อดีของการบันทึกข้อมูลแบบ EMR จะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในการจัดการข้อมูลทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ที่จะสามารถนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้จริงกับผู้ป่วย รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี 

1.3 PHR (Personal Health Record) 

ข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประกอบไปด้วย ข้อมูลผู้ป่วย บุคคลอ้างอิง การแพ้ยา การส่งต่อ การเข้ามารับการรักษา การวินิจฉัยโรค อาการเจ็บป่วย ทำหัตถการและผ่าตัด ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลตรวจจากภาพถ่ายทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ ผู้ให้บริการ การทำนัด 

โดยเป็นข้อมูลที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึง ควบคุม จัดการได้ด้วยตัวเอง ที่อาจจะมาจาก EHR ของทางโรงพยาบาล การบันทึกของผู้ป่วยเอง หรือได้รับจากแหล่งอื่นมาก็ได้

2. ระบบโรงพยาบาลด้านการบริหารและวิชาการ

เป็นระบบสารสนเทศที่มีความสำคัญในการใช้ข้อมูลมาช่วยในการบริหารโรงพยาบาล ด้วยการสรุปข้อมูลในแต่ละด้านของทางโรงพยาบาล เช่น 

  • ข้อมูลบุคลากร
  • การจัดอัตรากำลัง
  • ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของเจ้าหน้าที่
  • อัตราเงินเดือน
  • คลังยา
  • คลังจ่ายวัสดุอุปกรณ์กลาง
  • จำนวนผู้มาใช้บริการ
  • รายจ่าย-รายรับ

จากนั้นผู้บริหารจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ ไปประกอบในการตัดสินใจ วางแผนกลยุทธ์ วางแผนดำเนินงานต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย ระบบงานธุรการ, ระบบงานพัสดุ, ครุภัณฑ์, ระบบงานบัญชีและการเงิน, ระบบงานประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงระบบงานศึกษา (แพทย์และพยาบาล) ให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

3. ระบบโรงพยาบาลด้านวิศวกรรมการแพทย์

เป็นระบบงานด้านการบริหารจัดการเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีความพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ซึ่งประกอบไปด้วย

  • ระบบงานซ่อมบำรุง 
  • ระบบงานบำรุงรักษา 
  • ระบบงานสอบเทียบ 
  • ระบบงานการคัดกรองเทคโนโลยีทางการแพทย์ 
  • ระบบงานการประเมินอายุการใช้งาน และการยกเลิกการใช้งานเครื่องมือแพทย์

ระบบ HIS ช่วยพัฒนาระบบโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

HIS หรือระบบสารสนเทศโรงพยาบาล เป็นระบบที่ถูกสร้างมาเพื่อช่วยในการบริหารจัดการโรงพยาบาลด้วยข้อมูลอย่างเป็นระบบ ช่วยให้ผู้บริหารได้นำข้อมูลทั้งหมด ไปประกอบในการตัดสินใจ วางแผนกลยุทธ์ และจัดเตรียมทรัพยากร เครื่องมือให้พร้อมอยู่เสมอ 

ช่วยให้เจ้าหน้าที่ในแต่ละแผนกของโรงพยาบาล สามารถสื่อสารข้อมูล และเข้าใจทิศทางการทำงานที่ตรงกัน ผ่านระบบเครือข่ายที่ใช้งานร่วมกัน ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานเอกสารเกิดการพัฒนาทั้งด้านบุคลากรและองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษา ก็จะได้รับการบริการที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลของการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า

สนใจวางระบบโรงพยาบาล