การวางแผนการผลิตเป็นขั้นตอนการออกแบบระบบที่สำคัญ ในพัฒนาทั้งกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการให้ตอบสนองการผลิตให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ตั้งแต่การผลิตไปจนสินค้าถึงมือลูกค้าตามเวลาที่กำหนด
ซึ่งการออกแบบระบบสำหรับการวางแผนการผลิตในโรงงาน สามารถทำได้หลายรูปแบบตั้งแต่การใช้ผู้เชี่ยวชาญในการวางแผน หรือจะเลือกใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะทางก็ได้
ในบทความนี้จะมาอธิบายการวางแผนการผลิต (Production Planning) ที่ดีต้องทำอย่างไรบ้าง พร้อมบอกวิธีที่โรงงานควรนำไปใช้ เพื่อสร้างผลประกอบการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การวางแผนการผลิตคืออะไร?
การวางแผนการผลิต คือการนำปัจจัยทางด้านการผลิต มาจัดระเบียบขั้นตอนการทำงานให้การผลิตบรรลุเป้าตามที่ความต้องการของท้องตลาด ประกอบไปด้วย 4 ปัจจัย ได้แก่ แรงงาน, วัตถุดิบ, เครื่องจักร, และกระบวนการผลิต หรือเรียกอีกอย่างว่า 4M (Man, Material, Machine, Method)
โดยผู้ผลิตจะเริ่มประเมินสถานการณ์ในตลาดนั้นๆ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดก่อนเริ่มดำเนินการวางแผนการผลิตในขั้นตอนถัดมา ซึ่งการวางแผนในระบบนี้ จะถูกแบ่งเป็น 2 แบบ
1. การวางแผนการผลิตระยะยาว
แผนการผลิตนี้จะถูกนำมาใช้เมื่อเกิดการลงทุน และใช้ระยะเวลาการผลิตตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งจุดหมายของแบบแผนจะเน้นการเพิ่มกำลังการผลิต และการขยายกิจการ ดังนั้นการวางแผนการผลิตระยะยาวจึงถูกออกแบบให้รองรับการเติบโตของธุรกิจ และอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น การวางแผนการสร้างหรือการขยายโรงงาน เป็นต้น
2. การวางแผนการผลิตระยะสั้น
แผนการผลิตระยะสั้น เหมาะกับการคำนวณกำลังการผลิตที่มีเป้าหมายชัดเจน หากคุณต้องการกำหนดการผลิตประจำสัปดาห์ หรือการผลิตประจำไตรมาส รูปแบบการวางแผนการผลิตนี้จึงเหมาะสมเป็นอย่างมาก โดยคุณสามารถใช้วางแผนการผลิตตามช่วงต่างๆ ได้ภายใน 12 เดือน
การวางแผนการผลิตที่ดีเป็นอย่างไร?
ไม่องค์กรไหนๆ ก็สามารถมีการวางแผนการผลิตที่ดีได้ หากผู้รับผิดชอบในส่วนนั้นเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ที่แท้จริง เพราะการวางแผนการผลิตเปรียบเหมือนหัวใจสำคัญที่ครอบคลุมส่วนต่างๆ ให้รวมเป็นหนึ่ง ไม่ว่าจะในส่วนของการประสานงานเพื่อค้นหาความต้องการของตลาด, การประมาณการกำลังการผลิต (Production Capacity) ของโรงงาน รวมไปถึงการดำเนินการในขั้นตอนถัดไปจนสำเร็จผล
ดังนั้นทักษะการสื่อสาร การประสานงาน และการมองการณ์ไกล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้รับหน้าที่นี้ควรมีความเชี่ยวชาญ เพื่อกำหนดแผนงานที่เฉียบขาดให้องค์กรได้เดิมตามไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเภทของการวางแผนการผลิต
อย่างที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมในปัจจุบันนี้มีการแข่งขันมากมายในท้องตลาด เพราะฉะนั้นกลุ่มโรงงานและผู้ผลิตจำเป็นต้องมีรูปแบบแผนดำเนินการที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้สอดคล้องต่อผลผลิตของตน
ด้วยความแตกต่างนั้นทำให้การวางแผนการผลิตถูกแบ่งตามกระบวนการผลิตต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. Master production schedule (MPS)
การวางแผนกำหนดการ การผลิตสินค้าในช่วงเวลาที่กำหนด แผนการดำเนินงานประเภทนี้มักถูกสร้างขึ้นโดยซอฟต์แวร์ที่ผู้ใช้ หรือผู้ผลิตสามารถกำหนดเองได้
2. Material requirements planning (MRP)
ระบบอัตโนมัติที่แต่ละโรงงานก็สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ เช่น ระบบนี้เหมาะสำหรับการวางแผนการผลิต, การจัดตารางเวลา และการควบคุมสินค้าในคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ระบบ MRP ยังช่วยลดโอกาสในการเกิดปัญหาระหว่างการผลิต พร้อมสร้างความมั่นใจให้คุณได้ว่ากระบวนการผลิตทุกส่วนมีความพร้อม
3. การวางแผนกำลังการผลิต
หนึ่งในกระบวนการสำคัญ ที่จะคอยกำหนดกำลังการผลิตของโรงงาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเทรนด์ที่มีการเปลี่ยนไปตามความนิยม
4. การวางแผนการผลิตแบบ Workflow
นี่คือการวางแผนลำดับของการดำเนินงานให้แก่พนักงาน หรือกลุ่มพนักงานในองค์กร นอกจากนี้บทบาทการทำงานในประเภทอื่นๆ ยังนำตรรกะของการวางแผนการผลิตมาเสริมการทำงานให้เกิดระบบ เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการทำงานด้วยเหมือนกัน เช่น การวางแผนทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
5. การวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP)
การรวบรวมกระบวนการดำเนินงานขององค์กรไว้ในระบบ โดยใช้ซอฟต์แวร์ในการช่วยจัดระบบและแบบแผนให้ในแต่ละหน่วยงานสามารถทำงานร่วมกันได้ผ่านซอฟต์แวร์ ERP เพียงโปรแกรมเดียว แถมผู้ประกอบการยังสามารถเห็นภาพรวมของตัวรายงานผลได้ภายในคลิกเดียว
6. การวางแผนการขายและการดำเนินงาน (S&OP)
กระบวนที่ผู้บริหารทำการประเมินแผนงานในทุกบทบาทการทำงานในองค์กร และปรับให้สนับสนุนต่อแผนธุรกิจ เพื่อสร้างผลกำไรให้มีประสิทธิผล
ความสำคัญของการวางแผนการผลิต
หากโลกนี้ยังมีการแข่งขันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อ ในอุตสาหกรรมการผลิตจึงจำเป็นต้องหาจุดสมดุลของการผลิต ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อเพื่อสร้างผลกำไรให้แก่ความมั่นคงของธุรกิจ
ข้อดีของการวางแผนการผลิต
- สร้างสายการผลิตตามสูตรการผลิต (BOM) ของสินค้าได้
- มองเห็นภาพรวมของงานและสามารถเชื่อมโยงโครงการได้ตามต้องการ รวมไปถึงการเชื่อมโยงทั้ง ลูกค้า ผู้ขาย หรือพนักงาน
- ทราบต้นทุนการผลิตได้อย่างรวดเร็ว ความเสี่ยงต่องบบานปลายเพราะสามารถปรับต้นทุนให้สอดคล้องต่องบประมาณได้ก่อนเริ่มการผลิต
- กำหนดจำนวนสินค้าที่ต้องการผลิตได้ตามต้องการ
ดังนั้น โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการวางแผนการผลิตที่ดีจะช่วยควบคุมทุกอย่างที่อยู่ในกระบวนการผลิต และส่งผลให้องค์กรของเราประหยัดงบประมาณในระยะยาวได้ นอกจากนี้ลดระยะเวลาการรอคอยสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดได้อีกเช่นกัน
วิธีการวางแผนการผลิตที่โรงงานควรใช้
เมื่อองค์กรมีจุดมุ่งหมายในการสร้างรายรับเพิ่มขึ้น “การวางแผนการผลิต” จึงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจอุตสาหกรรมไปสู่ความสำเร็จได้ เพียงเพิ่มกลยุทธ์เล็กๆ อย่างการวางแผนการผลิตด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. ประเมินความต้องการสินค้าในตลาด
การเข้าใจและรับรู้ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เป็นกระบวนการแรกของการวางแผนการผลิต โดยทำการสำรวจและหาคำตอบ นำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าควรผลิตจำนวนเท่าใดในช่วงเวลาที่กำหนด
2. จัดสรรงบประมาณการผลิต เพื่อกำหนดกำลังการผลิต
เมื่อทราบความต้องการของตลาดแล้ว ต่อมาที่ควรทราบคืองบประมาณในมือของคุณมีเท่าไร แบ่งสัดส่วนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งคุณสามารถแบ่งงบประมาณได้ 3 ส่วน ดังนี้
- งบประมาณบุคลากร
- งบประมาณอุปกรณ์
- งบประมาณวัตถุดิบ
งบประมาณแต่ละส่วนจะสามารถแตกย่อยออกไปได้อีกตามพื้นฐานของแต่ละโรงงาน โดยการจัดสรรงบประมาณจะทำให้ทราบได้ว่า กำลังการผลิตสินค้าสู่ตลาดนั้นมีขีดจำกัดที่ตรงไหน และทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตามที่คาดการณ์ไว้ได้
3. การวางแผนการผลิต
3.1 วางแผนกระบวนการ (Process Planning)
เริ่มต้นด้วยการมองภาพรวมของการผลิต เพื่อไล่ระดับความสำคัญของกระบวนการทำงานให้เสร็จไปตามลำดับ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยย่นระยะเวลาการผลิตได้ดี หากทีมวางแผนกำหนดกระบวนการ และลำดับในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.2 การวางแผนเครื่องจักร (Machine Planning)
เพื่อให้ได้ผลผลิตทันเวลา เครื่องจักรจึงถูกใช้งานอย่างหนัก ไม่มีการหยุดพัก ด้วยเหตุนี้อาจมีผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตของเครื่องจักรลดลงได้ อาจส่งผลให้การผลิตหยุดชะงักและล่าช้าได้
เพื่อเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ ก่อนเริ่มการผลิตในแต่ละครั้งควรมีวางแผนการตรวจเช็กสภาพของเครื่องจักรให้มีความพร้อมอยู่เสมอ
3.3 วางแผนด้านแรงงาน (Man Planning)
สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงคือกฎหมายด้านแรงงาน องค์กรจำเป็นที่จะต้องกำหนดเวลาการทำงาน และการพักที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่ม และควรมอบหมายงานที่เหมาะสมต่อความสามารถ ไม่เกินกำลังการแก่พนักงาน
3.4 การวางแผนการจัดเก็บ (Store Planning)
ในส่วนสุดท้ายของกระบวนการนี้คือ การวางแผนการจัดเก็บ ผู้วางแผนการผลิต ควรมองหาแหล่งที่เหมาะสมต่อการจัดเก็บสินค้าให้เพียงพอต่อการใช้งาน ตั้งแต่วัตถุดิบ สินค้าระหว่างการผลิต รวมไปถึงสินค้าที่ผลิตเสร็จสมบูรณ์ และไม่สูงเกินกว่าระดับที่กำหนด
4. ติดตาม ประเมินผล และปรับแผนให้มีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนนี้จะเป็นการตรวจสอบและประเมินคุณภาพของการผลิตว่าเป็นอย่างไร รวมถึงการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มการผลิตจนกระทั่งงานเสร็จสิ้น เพื่อนำมาปรับแก้การวางแผนการผลิตในอนาคตให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ การตรวจสอบสินค้าก่อนส่งมอบแก่ลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพที่ดี และความน่าไว้วางใจของโรงงาน ทุกๆ องค์จึงไม่ควรละเลยในกระบวนการนี้เป็นอันขาด
สรุปท้ายบทความ
หากเรามีทีมที่พร้อมด้วยประสบการณ์ วัตถุดิบคุณภาพ และเครื่องมืออุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลประกอบการที่น่าพึงพอใจต่อลูกค้า และอุตสาหกรรม หรือโรงงานนั้นๆ การวางแผนการผลิต (Production Planning) จึงเป็นส่วนสำคัญอันดับต้นๆ ที่ต้องคำนึงถึง เพราะบทบาทและหน้าที่ของกระบวนการนี้ คือการวางรูปแบบการทำงานให้เกิดผลงานที่ดีที่สุด
ในช่วงเวลาที่มีการแข่งขันอยู่เสมอ สิ่งสำคัญที่ทุกโรงงานควรมี คือการจัดระบบและการวางแผนการผลิตที่รวบรัด ครอบคลุมต่อทุกสถานการณ์ รวมไปถึงการมองการณ์ไกลเพื่อเล็งหาโอกาสพัฒนาผลประกอบการในอนาคต และ ระบบ ERP อาจเป็นอีกตัวเลือกที่จะช่วยยกระดับองค์กรด้วยนวัตกรรมล่าสุด พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และส่งมอบคุณค่าของแบรนด์ให้กับกลุ่มลูกค้าของคุณ