ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยหรือผู้รับบริการทางการแพทย์ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยและตัดสินใจเลือกวิธีรักษา โรงพยาบาลและสถานประกอบการทางการแพทย์ จึงต้องจัดการกับข้อมูลปริมาณมหาศาลของผู้รับบริการฯ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทั่วไป ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ การติดตามผลลัพธ์ หรือการวิเคราะห์สารในห้องปฏิบัติการ หรือ “ห้องแล็บส์” (laboratory)
ซึ่งในปัจจุบันเรามี ระบบจัดการข้อมูลห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (LIS: Laboratory Information System) ที่สามารถเข้ามาช่วยจัดการกับข้อมูลปริมาณมหาศาลได้อย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถช่วยทุ่นแรงและเวลาในการจัดเก็บ จัดการ และช่วยประมวลผลให้กับแพทย์หรือนักวิจัยได้
บทความนี้มาทำความรู้จักกับ ระบบจัดการข้อมูลห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ หรือ LIS: Laboratory Information System พร้อมประโยชน์จากการใช้งาน
ระบบ LIS (Laboratory Information System) คืออะไร
LIS ย่อมาจาก Laboratory Information System คือ ซอฟต์แวร์ระบบจัดการข้อมูลห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ทำหน้าที่จัดเก็บ จัดการ และประมวลผลข้อมูล รวมทั้งช่วยดำเนินกิจกรรมในห้องปฏิบัติการ
เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้นักวิจัยหรือนักเทคนิคการแพทย์ สามารถวิเคราะห์และวินิจฉัยตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบ เช่น โลหิต จุลชีวะ สารเคมี ภูมิคุ้มกัน ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างรายงานผลลัพธ์ และทำงานร่วมกับเครื่องมือและระบบอื่นๆ ในโรงพยาบาลและห้องแล็บส์ได้
โดยระบบจัดการข้อมูลห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เปรียบได้กับคอมพิวเตอร์ที่ทำการประมวลผลจากการที่นักวิจัยบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยหรือส่ง “สิ่งส่งตรวจ” (Specimens) เช่น โลหิตหรือปัสสาวะ เข้าไปตรวจ แล้วระบบก็จะทำการบันทึกข้อมูล จัดการ และประมวลผลลัพธ์ที่ต้องการออกมาให้นักวิจัยหรือนักเทคนิคการแพทย์
ความแตกต่างระหว่าง LIS และ LIMS
เพื่อทำความเข้าใจระบบ LIS (Laboratory Information System) ให้มากขึ้นและเพื่อที่จะสามารถเลือกระบบมาใช้ได้ถูกต้อง เราจำเป็นต้องรู้จักอีกระบบที่มีความใกล้เคียงกัน นั่นคือ ระบบ LIMS (Laboratory Information management System) ซึ่งมักถูกเรียกสับสนกัน โดยความแตกต่างของทั้งสองระบบนี้ ได้แก่
- ระบบ LIS มักจะใช้ในทางคลินิก การวิจัยทางการแพทย์ และโรงพยาบาล ในขณะที่ LIMS จะใช้ในเชิงโรงงานหรือการทดสอบผลิตสารเคมี เช่น อาหาร/เครื่องดื่ม น้ำ สารเคมี การทดสอบยา เป็นต้น
- ระบบ LIS จะได้รับการรับรองจาก HIPAA ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่รับประกันและตรวจสอบเกี่ยวกับกิจการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ในขณะที่ระบบ LIMS ต้องได้รับการรับรองจาก Good manufacturing practice (GMP) ที่ตรวจสอบการผลิตยา อาหาร/เครื่องดื่ม หรือเครื่องสำอางเป็นหลัก
- ระบบ LIS จะให้ความสำคัญกับ “subjects” ซึ่งในที่นี้หมายถึง ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการทางการแพทย์เป็นรายๆ และเป็นการวางระบบแบบ “patient-centric settings” ในขณะที่ระบบ LIMS จะให้ความสำคัญกับ “batches” (การทดลอง) และ “samples” (กลุ่มตัวอย่าง) ซึ่งเป็นระบบแบบ “group-centric”
อย่างไรก็ตาม ซอฟต์แวร์ทั้ง 2 ระบบ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาก เช่นเดียวกับระบบจัดการของมูลในอุตสาหกรรมต่างๆ ระบบทั้งสองสามารถทำงานได้ใกล้เคียงกันและทำให้หลายครั้งมักถูกเรียกสับสนในความหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะ LIS หรือ LIMS ต่างก็หมายถึง ระบบที่นำมาใช้จัดการข้อมูล วิเคราะห์ และประมวลผลสำหรับห้องปฏิบัติการ (laboratory) ซึ่งมีหัวใจการทำงานเหมือนกัน
การทำงานของ LIS หรือ Laboratory Information System
ระบบ LIS จริงๆ แล้วมีหลากหลายประเภทขึ้นอยู่กับฟังก์ชั่น หรือความสามารถของระบบในการจัดเก็บ ประมวลผลข้อมูลหรือ “สิ่งส่งตรวจสอบ” (specimens) และการเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ (integration) ซึ่งผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ LIS แต่ละเจ้าก็พัฒนาความสามารถต่างๆ ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การทำงานหลักๆ ของ LIS หลักๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 6 กระบวนการ ได้แก่
- Sample Registration หรือการบันทึก/ลงทะเบียนข้อมูล ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งข้อมูลของผู้ป่วย หรือข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งส่งตรวจสอบ
- Workflow Management ระบบดำเนินการทำงาน ซึ่งสามารถตั้งค่าให้ตรวจสอบและทำงานโดยอัตโนมัติตาม Workflow หรือตามคำสั่งได้
- Test Configuration หรือการกำหนดค่าการตรวจสอบ เพื่อทดสอบหรือวินิจฉัยสิ่งส่งตรวจสอบ
- Result Input การนำเข้าผลลัพธ์การทดสอบที่มาจากระบบหรือเครื่องมืออื่น (Instrument Integration หรือ การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หรือระบบอื่น)
- Result Validation การรับรองผลการทดสอบอย่างแม่นยำ
- Report Generation ประมวลผลและรายงานผลการปฏิบัติงาน
ด้วยฟังก์ชันหลักหรือจากกระบวนการทั้ง 6 นี้ ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และโรงพยาบาลสามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ของห้องปฏิบัติการได้ พร้อมทั้งจัดการข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ เช่น วันและเวลาในการนำเข้าสิ่งส่งตรวจสอบ รายงานการปฏิบัติการต่างๆ สามารถติดตามและอัปเดตผลการทดสอบได้ เป็นต้น
ฟังก์ชันอื่นๆ ของระบบ LIS
นอกจากกระบวนการทั้ง 6 กระบวนการ ที่ถือเป็นหัวใจของระบบจัดการข้อมูลห้องปฏิบัติการทางการแพทย์แล้ว ยังมีฟังก์ชันพื้นฐานอื่นๆ ที่ LIS ส่วนใหญ่สามารถทำได้ เช่น
- ระบบจัดการข้อมูลผู้ป่วยหรือเวชระเบียน
- การติดตามข้อมูลของผู้ป่วยหรือผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์
- การสั่งการทดสอบมาตรฐานและการติดตามตัวอย่างหรือสิ่งส่งตรวจสอบ
- การรับประกันคุณภาพ (quality assurance)
- ระบบจัดการคลังและอุปกรณ์ (Inventory and equipment management)
- ระบบบัญชี (billing)
- การเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์หรืออุปกรณ์อื่น (third-party software integration)
LIS มีประโยชน์กับโรงพยาบาลและ “ห้องแล็บส์” อย่างไร?
ประโยชน์ของระบบ LIS ซอฟต์แวร์จัดการข้อมูลฯ คือ การทำหน้าที่ดึงข้อมูลเข้ามาอยู่ในระบบเดียว (Data Centralization) เพื่อให้ห้องปฏิบัติการหรือโรงพยาบาล สามารถจัดการกับข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีข้อมูลที่อยู่ในระบบและดึงมาใช้งานได้ทันที นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามสถานะและกิจกรรมต่างๆ ของห้องแล็บส์ได้ด้วย
1. ช่วยดำเนินการทดสอบและวินิจฉัยด้วย Workflow
ช่วยให้นักวิจัยหรือนักเทคนิคการแพทย์ทดสอบตัวอย่างหรือสิ่งส่งตรวจสอบได้ง่ายและเป็นระบบ ด้วยการสั่งการให้ระบบทำงานโดยอัตโนมัติตาม Workflow ที่กำหนดไว้
2. ช่วยจัดการกับข้อมูลอย่างเป็นระบบสำหรับการทดสอบและวิจัย
ด้วย LIS ห้องแล็บส์สามารถสามารถจัดกลุ่มของ ตัวอย่างหรือสิ่งส่งตรวจสอบ รวมถึงติดตามผลลัพธ์และใช้ LIS ช่วยในการวิเคราะห์/วินิจฉัย โดยกำหนดค่าในการตรวจสอบได้ด้วย (configuration)
3. ช่วยจัดการคลังและอุปกรณ์ของห้องปฏิบัติการ
ระบบ LIS สามารถติดตามกิจกรรมและการใช้อุปกรณ์หรือสารที่นำมาใช้ในการทดสอบแต่ละรอบได้ โรงพยาบาลหรือห้องแล็บส์ที่นำ LIS มาใช้จะมีข้อมูลการใช้งานส่ิงเหล่านั้น ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ต้องใช้เหลืออยู่เท่าไร มีอัตราการใช้งานเฉลี่ยเท่าไร หรือควรส่งของมาคงคลังไว้เมื่อไร นอกจากนี้ ยังสามารถนำข้อมูลมาประมาณการจัดสรรงบประมาณได้อีกด้วย
4. ใช้ติดตามการใช้เครื่องมือทางการแพทย์หรือเครื่องมือในการทดสอบ
หากโรงพยาบาลใช้ระบบ LIS ในการติดตามและบันทึกกิจกรรมต่างๆ ก็จะมีข้อมูลการใช้งานเครื่องมือต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพ ความคงทน เพื่อประเมินความคุ้มค่าในการสั่งเครื่องมือในครั้งต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยคุมค่าใช้จ่ายให้กับ
5. เชื่อมต่อและส่งต่อข้อมูลกับระบบหรือซอฟต์แวร์อื่น
สำหรับโรงพยาบาลแล้ว ระบบ LIS จะช่วยเชื่อมต่อข้อมูลให้กับฐานข้อมูลของผู้ป่วยได้ทันที สามารถเชื่อมต่อกับระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์” (EHR: Electronic Health Records) หรือระบบโรงพยาบาล (EMR: Electronic Medical System) ได้ ทำให้ข้อมูลสามารถนำมาใช้ได้ทันที ลดเวลาดำเนินการอัปเดตข้อมูลของผู้ป่วย ลดความผิดพลาดในการอัปเดตข้อมูล เป็นต้น
ระบบจัดการข้อมูลห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (LIS System) ที่ดีมีลักษณะอย่างไร
จะเห็นได้ว่า ระบบ LIS มีประโยชน์มากมาย ซึ่งจะเข้ามาช่วยจัดการกิจกรรมต่างๆ และข้อมูลของห้องแล็บส์อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับโรงพยาบาล แล็บส์ หรือสถานประกอบการทางการแพทย์ที่ต้องการเลือก LIS เข้ามาใช้ในองค์กร สิ่งเหล่านี้คือ ลักษณะสำคัญของ LSI ที่ควรมองหา
- สามารถกำหนดค่าในการทดสอบต่างๆ ได้อย่างอิสระ (flexible configuration) รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้กับการทดสอบตัวอย่างอื่นๆ ในอนาคตได้ด้วย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งกับการค้นคว้าและวิจัย
- สามารถจัดการกับตัวอย่าง หรือสิ่งส่งตรวจตลอดกระบวนการได้ (entire life of the sample management) ตั้งแต่การบันทึก/ลงทะเบียนตัวอย่าง การติดตามผล การประมวลผล การจัดเก็บข้อมูลที่สามารถดึงมาใช้งานได้ทันที
- มีหน้าตาการใช้งานที่เข้าใจง่าย (friendly interface) นักวิจัย นักเทคนิคการแพทย์ สามารถใช้งานได้โดยไม่เกิดความสับสน สามารถเรียนรู้ได้ในเวลาไม่นาน
- สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์และซอฟต์แวร์นอกได้ (third-party software integration) เพราะการทดสอบตัวอย่างบางตัวอย่างต้องใช้เครื่องมือนอกในการทดสอบและส่งข้อมูล รวมทั้งเพื่อซิงค์ข้อมูลกับฐานข้อมูลหลักขององค์หรือหรือเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกซ์ เป็นต้น
ระบบ LIS ที่ดี ควรจะตอบโจทย์การใช้งานขององค์กร สามารถใช้งานได้อย่างง่ายได้ มีความยืดหยุ่นเพียงพอในการรองรับการทดสอบ/วิจัยในอนาคต และสามารถจัดการกิจกรรมและข้อมูลของโรงพยาบาล ห้องแล็บส์ หรือสถานประกอบการทางการแพทย์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จัดการข้อมูลของห้องปฏิบัติการ (Laboratory) ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
ระบบจัดการข้อมูลห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ หรือ LIS คือ ซอฟต์แวร์ในการจัดการข้อมูลเช่นเดียวกับระบบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น เช่น CRM หรือ ERP ของโรงงาน ทำหน้าที่ช่วยดำเนินงานต่างๆ ที่ซ้ำซ้อน เก็บ จัดการข้อมูล ทำ Data Centralization รวมทั้งประมวลผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพ
การนำ LIS หรือ Laboratory Information System เข้ามาใช้ในโรงพยาบาลมีประโยชน์ทั้งกับเจ้าหน้าที่ องค์กร และผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ กล่าวคือ LIS ช่วยลดภาระงาน เวลาในการทำงานของนักวิจัย และนักเทคนิคการแพทย์ด้วย Workflow ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลสามารถควบคุม ดูแล ทรัพยากรและค่าใช้จ่ายได้ด้วยฐานข้อมูลที่เป็นระบบ และสุดท้ายผู้เข้ารับบริการซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากบริการที่มีคุณภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น