การจัดทำและจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาล คลินิก หรือสถานพยาบาลอื่นๆ จากเดิมที่ใช้รูปแบบการบันทึกเป็นลงกระดาษและจัดเก็บเอาไว้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เมื่อมีปริมาณมากขึ้น ก็จะทำให้มีปัญหาในการจัดการข้อมูล และการเรียกใช้งานก็จะใช้เวลาดำเนินนานขึ้นด้วย
นั่นจึงทำให้เกิด EMR (Electronic Medical Record) เพื่อช่วยให้แพทย์ที่ให้การรักษาและบุคลากรทางการแพทย์ สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยได้ด้วยวิธีการที่รวดเร็ว และยังช่วยปรับปรุงรูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี
บทความนี้มาทำความรู้จักกับหนึ่งในระบบโรงพยาบาล (HMS) ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนการจัดการข้อมูลเวชระเบียน ให้กลายเป็นเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Record) ที่สะดวกต่อการใช้งานของทุกคนที่เกี่ยวข้อง
EMR (Electronic Medical Record) คืออะไร?
EMR (Electronic Medical Record) หรือ เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นซอฟต์แวร์อัตโนมัติสำหรับโรงพยาบาล คลินิก หรือสถานพยาบาลอื่นๆ ในการจัดทำเอกสาร และจัดเก็บข้อมูลเวชระเบียนจากเดิมที่ใช้การบันทึกลงในกระดาษ เปลี่ยนมาจัดเก็บเอาไว้ในรูปแบบของดิจิทัลแทน
โดยเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่
- ประวัติทางการแพทย์
- การวินิจฉัยโรค
- การให้ยา
- ข้อมูลการฉีดวัคซีน
- ข้อมูลการแพ้
- ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- บันทึกของแพทย์
ข้อมูลเหล่านี้จะถูกจัดเก็บเอาไว้บนฐานข้อมูลออนไลน์หรือ Cloud ช่วยให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้ป่วย สามารถติดตามและตรวจสอบข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยได้ผ่านระบบออนไลน์ที่เข้าถึงจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งข้อมูล EMR จะถูกเก็บรักษาเอาไว้อย่างปลอดภัย ด้วยการเข้ารหัสผ่านหรือยืนยันตัวตนก่อนเท่านั้น
นอกจากจะเปลี่ยนการจัดการข้อมูลเวชระเบียนมาสู่ระบบดิจิทัลแล้ว การใช้งาน EMR ยังช่วยทีมผู้ให้การรักษาสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยได้ครบรอบด้าน ข้อมูลของผู้ป่วยมีการอัปเดต มีภาพรวมด้านสุขภาพที่ชัดเจน
เช่น แฟ้มรายละเอียดคนไข้ บันทึกการรักษาจากสถานพยาบาลอื่นๆ ที่ช่วยให้ทีมแพทย์สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ ในการวิเคราะห์การดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
หน้าที่หลักของ EMR
เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้บุคลากรทางการแพย์ สามารถบันทึกและเรียกดูข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น โดยการนำไปใช้ประโยช์ของ EMR ในสถานพยาบาล มีหน้าที่หลักๆ ดังนี้
1. จัดการข้อมูลชาร์ต หรือบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
ช่วยเก็บรักษาประวัติการรักษาและการวินิฉัยโรค ด้วยการบันทึกเข้าสู่ระบบดิจิทัลแบบอัตโนมัติ ทำให้ข้อมูลมีความแม่นยำและชัดเจนในการอ่านมากยิ่งขึ้น รวมถึงลดภาระในการถือชาร์ตคนไข้หลายชิ้นขณะออกตรวจ
2. พอร์ทัลสำหรับผู้ป่วย (Patient Portals)
โดยผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ของตนเองได้ ผ่านระบบ EMR ออนไลน์ที่ต้องใช้การเข้ารหัสส่วนตัวในการเข้าถึงข้อมูล ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูประวัติการรักษา ประวัติการใช้ยา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากโรงพยาบาล หรือจากคลินิกแห่งอื่นได้
3. ใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Prescribing)
ช่วยให้เภสัชกรรับใบสั่งยาได้รวดเร็วขึ้น โดยระบบจะแจ้งชนิดยารักษา จำนวนการใช้ยา การแพ้ยา ของผู้ป่วย จากแพทย์ไปยังเภสัชกรโดยตรง
4. บริหารรายการสั่งซื้อ
ช่วยฝ่ายจัดซื้อของสถานพยาบาล ในการจัดการและจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการหรือแผนกอื่นๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยช่วยลดโอกาสการสูญหายของคำสั่งซื้อจากแผนกต่างๆ ด้วยการใช้ระบบดิจิทัลในการจัดการข้อมูลให้เป็นระบบ
5. สนับสนุนการดูแลตัวเองให้กับผู้ป่วย
สำหรับระบบ EMR ส่วนใหญ่ จะมีฟังก์ชันที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับคำแนะนำ หรือติดตามการเจ็บป่วยเรื้อรังจากสถานพยาบาล โดยผู้ป่วยจะได้รับการแจ้งเตือนข้อมูลนัดหมายการรักษา พร้อมคำแนะนำการดูแลสุขภาพ*ของตนเองเพิ่มเติมเพิ่มเติมจากระบบ
*คำแนะนำการดูแลสุขภาพจะแตกต่างกันออกไปตาม ข้อมูลประชากร (Demographic) ของผู้ป่วย เช่น กลุ่มผู้หญิงในช่วงอายุหนึ่งจะได้รับคำแนะนำให้ไปตรวจ Mammogram สำหรับตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ฟังก์ชันนี้จึงช่วยให้ทุกคนได้ดูแลสุขภาพร่างกายตามช่วงอายุที่เหมาะสม
ใครบ้างที่ใช้งาน EMR ได้
EMR สามารถเข้าถึงได้โดย แพทย์ทุกสาขา นักกายภาพบำบัด เภสัชกร พยาบาล รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ในทุกสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วย โดยจะสามารถเรียกดูข้อมูล ประวัติของคนไข้ รวมถึงบันทึกข้อมูลการรักษาเข้าไปเพิ่มเติมได้
นอกจากนี้ ตัวผู้ป่วยเองก็สามารถเข้าถึง EMR ของตนเองได้ด้วย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการเปิดเผยข้อมูลของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง เช่น ข้อมูลสรุปหลังจากการเข้ารับการรักษา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากโรงพยาบาล รายงานผลการตรวจวินิจฉัย ซึ่งข้อดีของการเปิดเผยข้อมูลสุขภาพให้กับผู้ป่วยได้ทราบ ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยหันมาดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น
ประเภทของ EMR ซอฟต์แวร์
ซอฟต์แวร์ EMR ช่วยให้โรงพยาบาลหรือผู้ให้บริการทางการแพทย์ทุกแห่ง สามารถนำข้อมูลเวชระเบียนมาจัดเก็บในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก และเรียกใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับการเลือกประเภทของซอฟต์แวร์ EMR จะขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และความต้องการใช้งานของสถานพยาบาลแต่ละแห่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. EMR ที่ใช้บริการบน Cloud
เป็นการสร้างระบบซอฟต์แวร์ EMR และจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดเอาไว้บนเอาไว้บน Cloud ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงฐานข้อมูล HIS ทั้งหมดได้จากทุกที่ และจากทุกอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
โดยข้อดีของการใช้บริการ EMR บน Cloud นั่นคือระบบทั้งหมดจะมีการอัปเดตเวอร์ชั่นล่าสุดให้ทันที และไม่ต้องเสียเวลาไปกับการบำรุงรักษาระบบเอง
เช่น การทำเว็บไซต์ EMR หรือ จากการใช้บริการผ่าน Software-as-a-Service (SaaS) ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพของ SaaS ง่ายๆ ก็จะได้แก่ Gmail, Microsoft Office 365, Google Drive
2. ซอฟต์แวร์ EMR บนคอมพิวเตอร์
รูปแบบของการใช้งานระบบ EMR แบบดั้งเดิม นั่นคือการจัดซื้อซอฟต์แวร์ EMR สำเร็จรูป มาติดตั้งลงในคอมพิวเตอร์หรือเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้งานในสถานพยาบาล แต่การลงทุนในซอฟต์แวร์ที่ต้องนำมาติดตั้งลงบนคอมพิวเตอร์แบบนี้ แน่นอนว่าจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย และยังต้องใช้เวลาในการอัปเดตเวอร์ชั่น หรือติดตั้งใหม่อยู่บ่อยครั้ง
3. EMR บนแอปพลิเคชัน
การใช้งาน EMR บนแอปพลิเคชั่นจากผู้ให้บริการ หรือ Application Service Provider เป็นการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น EMR จากองค์กรภายนอก มาติดตั้งลงบนอุปกณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
ระบบนี้เหมาะกับสถานพยาบาลขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง โดยการเริ่มต้นใช้งานนั้นสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ในระดับหนึ่ง แต่หากต้องขยายขนาดการใช้งาน หรือใช้งานฟังก์ชันพิเศษก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ประโยชน์ของ EMR ในธุรกิจที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ
การใช้งาน EMR ช่วยในการจัดข้อมูลเวชระเบียนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยประโยชน์ของ EMR ในภาพรวมนั้นได้แก่
1. สร้างคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้น
EMR ช่วยให้แพทย์ที่รักษาผู้ป่วย สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่เป็นเพียงการอ่านข้อมูลจากกระดาษเท่านั้น แต่ EMR สามารถเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ เช่น ข้อมูลน้ำหนัก ระดับคอเลสเตอรอล ความดันโลหิต สรุปออกมาเป็นชาร์ตที่ใช้งานได้ง่าย จึงช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยจากข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ เมื่อผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพโดยรวม และประวัติสุขภาพของตัวเองได้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยหันมาดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้นด้วย
2. ลดการใช้พื้นที่จัดเก็บเอกสารลง
การจัดเก็บระเบียนผู้ป่วยในเอกสารแบบดั้งเดิม ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการจัดเก็บ โดยถ้าแพทย์ต้องการข้อมูลของผู้ป่วยที่เคยจัดทำเอาไว้แล้ว ก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการค้นหา รวมถึงในเอกสารข้อมูลผู้ป่วยก็มีบันทึกข้อมูลจำนวนมาก ที่ต้องใช้เวลาในการสืบค้นที่ค่อนข้างนาน
การใช้งาน EMR จึงช่วยให้ข้อมูลเวชระเบียนผู้ป่วยทั้งหมดที่เคยอยู่ในเอกสาร ไปจัดเก็บเอาไว้ในฐานข้อมูลที่เป็นระบบดิจิทัลอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งหากแพทย์ต้องการหาข้อมูลของผู้ป่วย ก็สามารถเรียกดูข้อมูลได้ทันทีเพียงคลิกเดียว
3. บันทึกข้อมูลทางการแพทย์ได้ชัดเจน
ช่วยลดปัญหาการบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ลงบนกระดาษที่อาจตกหล่น สูญหาย หรือมีข้อผิดพลาดจากการถอดความของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการต่อ
โดยเมื่อแพทย์ให้การตรวจผู้ป่วยและมีการบันทึกข้อมูลลงในชาร์ต ก็สามารถบันทึกข้อมูล หรือเลือกชุดคำสั่งที่พิมพ์เอาไว้ล่วงหน้า ลงไปในอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับ EMR ได้เลย ระบบนี้จึงช่วยให้ข้อมูลนั้นมีความชัดเจน และลดความผิดพลาดในการประสานงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานต่อ ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ตรงจุด
4. ประสานการทำงานของสถานพยาบาล
EMR ช่วยให้แพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วย สามารถเข้าถึงเวชระเบียนของผู้ป่วย ได้จากคลิกนิก หรือสถานพยาบาลอื่นๆ ทั้ง ข้อมูลการวินิจฉัย การรักษา การให้ยา รวมถึงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากโรงพยาบาลหรือจากคลินิกแห่งอื่น ซึ่งช่วยให้แพทย์ไม่ต้องส่งผู้ป่วยไปตรวจซ้ำ จึงประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วย และสถานพยาบาลด้วย
เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยด้วย EMR
เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EMR เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้การดูแลสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพ โดยเป็นที่จัดเก็บข้อมูลสุขภาพผู้ป่วย ที่เปิดทั้งแพทย์และเจ้าของข้อมูลเอง สามารถเข้าถึงได้ง่ายและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้แพทย์สามารถติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยได้ในระยะยาว และทำการนัดหมายเข้าตรวจเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม รวมถึงผู้ป่วยเองก็ได้อัปเดตข้อมูลสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ
สำหรับการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ EMR ในแต่ละสถานพยาบาล ก็มีหลายตัวเลือกและรูปแบบการดำเนินงานที่ต่างกันออกไป ซึ่งการตัดสินใจเลือกใช้ระบบนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่การพิจารณาความต้องการใช้งาน ความพร้อมของบุคลากร และการเลือกใช้ฟังก์ชันที่จำเป็น เพื่อให้ระบบ EMR สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด