ระบบจัดการคลังสินค้า หรือ Warehouse Management System คือ ซอฟต์แวร์หรือระบบที่ช่วยควบคุมและจัดการคลัง (Warehouse) ทั้งหมดทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งต่างจาก “ระบบจัดการสินค้าคงคลัง” (Inventory Management) ที่จะจัดการเฉพาะเรื่องสต็อกสินค้าเท่านั้น
ในบทความนี้มาทำความรู้จักกับระบบการจัดการคลังสินค้า ที่เรียกย่อๆ ว่า “WMS” ซึ่งประกอบด้วยระบบต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันเป็นฟันเฟืองในการจัดการคลังตั้งแต่การรับสินค้าเข้า การขนส่ง ไปจนกระทั่งการเคลื่อนย้ายคลัง รวมถึงระบบต่างๆ ที่ร่วมกันทำงานอยู่ในระบบจัดการคลังสินค้าจะมีอะไรบ้าง
- ระบบจัดการคลังสินค้าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
- 1. ระบบสินค้าเข้า (Stock Entry)
- 2. ระบบจัดการและเอกสารต่างๆ (Documenting)
- 3. ระบบบริหารสินค้า (Inventory Management)
- 4. ระบบจัดการการขนส่ง (Transportation Management System)
- 5. ระบบโอนย้ายสินค้า (Inventory Transfers)
- 6. ระบบตั้งหน่วยนับสินค้า (Unit of Measurement)
- 7. ระบบช่วยสรุปภาพรวมในระบบจัดการคลังสินค้า (Report)
- สรุป 7 องค์ประกอบของระบบจัดการคลังสินค้า
ระบบจัดการคลังสินค้าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
องค์ประกอบหรือระบบต่างๆ ในระบบจัดการคลังสินค้าประกอบไปด้วย 7 ระบบสำคัญด้วยกัน ได้แก่
- ระบบสินค้าเข้า (Stock Entry)
- ระบบจัดการและเอกสารต่างๆ (Documenting)
- ระบบบริหารสินค้า (Inventory Management)
- ระบบจัดการการขนส่ง (Transportation Management System)
- ระบบโอนย้ายสินค้า (Inventory Transfers)
- ระบบตั้งหน่วยนับสินค้า (Unit of measurement)
- รายงานสรุปภาพรวมสินค้า (Report)
1. ระบบสินค้าเข้า (Stock Entry)
ระบบสินค้าเข้า หรือ Stock Entry เป็นระบบจัดการการนำสินค้าเข้ามาในคลัง ช่วยบันทึกธุรกรรมหรือการเคลื่อนไหวของสินค้า คอยบอกจำนวน/ปริมาณของสิ่งของ ที่อยู่ (คลังสินค้า) มูลค่า รหัสสิ่งของ (Serial Number)
ประโยชน์ของระบบคลังสินค้าเข้านั้น จะช่วยให้เรารู้ว่า ของออกจากคลังต้นทาง (Source Warehouse) เท่าไหร่ ช่วยให้รู้ว่าจะต้องมีของเข้ามากักเก็บไว้ในคลังปลายทาง (Target Warehouse) เท่าไหร่ หรือมีอะไรเคลื่อนย้ายจากคลังหนึ่งไปอีกคลังหนึ่งอย่างไร เห็นการเคลื่อนไหวของการใช้วัสดุหรือวัตถุดิบจากคลังต่างๆ เป็นต้น
2. ระบบจัดการและเอกสารต่างๆ (Documenting)
ระบบจัดการเอกสารต่างๆ เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่จะคอยสรุปข้อมูลการทำธุรกรรมต่างๆ (Transaction) ภายในคลังสินค้า ซึ่งในระบบนี้ จะประกอบไปด้วย
2.1 ใบส่งของ (Delivery Note)
ใบส่งของ หรือ Delivery Note คือ เอกสารที่จะออกเมื่อส่งสินค้า/บริการ ให้กับลูกค้าเพื่อเป็นหลักฐานระหว่างผู้ส่งและผู้รับ ว่าผู้รับได้รับของหรือสินค้าและสิ่งที่ได้รับถูกต้องตามที่ตกลง ทั้งรายการส่งของ จำนวน ราคา เป็นต้น
โดยใบส่งของจะประกอบไปด้วยรายละเอียดสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่
- รายละเอียดสินค้า/บริการ เช่น ข้อมูลผู้รับ, ข้อมูลผู้จัดส่ง, รายการสินค้าและบริหาร, จำนวนสินค้า, ราคาสินค้า, วันที่และรายละเอียดการจัดส่ง รวมทั้งเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้
- หลักฐานการรับสินค้า ซึ่งจะประกอบไปด้วย ลายเซ็นของผู้รับสินค้า วันที่ในการรับสินค้า โดยข้อมูลส่วนนี้จะใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันการได้รับสินค้าที่ถูกต้อง
2.2 ใบเสร็จการสั่งซื้อ (Purchase Receipt)
ใบเสร็จการสั่งซื้อ คือ เอกสารที่ออกให้กับผู้ซื้อหรือลูกค้า ซึ่งเป็นเอกสารที่ยืนยันว่าได้มีการชำระค่าใช้จ่ายเรียบร้อยแล้ว
2.3 ใบเบิกพัสดุหรือวัตถุดิบ (Material Request)
ใบเพิกพัสดุ มีความหมายตามชื่อ คือ เป็นเอกสารที่ใช้สำหรับการขอเบิกพัสดุ วัสดุ หรือสิ่งของออกจากคลัง โดยรายละเอียดหลักๆ จะต้องระบุผู้ที่ทำการขอเบิกพัสดุ วันที่ทำการขอเบิก รายละเอียดสิ่งของ คลังที่จัดเก็บ รวมไปถึงชื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ขอเบิก ผู้ตรวจสอบ ผู้อนุมัติ เป็นต้น
2.4 รายการสิ่งของตามใบสั่ง/ใบเบิก (Pick List)
รายการสิ่งของตามใบสั่ง/ใบเบิก (Pick List) คือ เอกสารที่รวบรวมรายการสิ่งที่ถูกขอสั่งซื้อหรือขอเบิกจากคลังมา หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่า “ออร์เดอร์ (Order)” ซึ่งจะระบุรายละเอียดการหยิบสิ่งของว่า หยิบมาอย่างไร (เป็นชิ้น เป็นลัง เป็นพาเลท) ปริมาณเท่าไหร่ จากคลังหรือโซนไหน เป็นต้น
3. ระบบบริหารสินค้า (Inventory Management)
ระบบบริหารสินค้าหรือระบบบริหารสินค้าคงคลัง คือ ระบบสำหรับจัดการ ดูแล และวางแผนในการจัดการกับสินค้า และธุรกิจจะเห็นการเคลื่อนไหวของสินค้าต่างๆ ว่ามีอะไรที่ถูกจำหน่ายออก หรือนำเข้ามา ให้รู้ว่าคลังมีสินค้าอะไร เท่าไหร่ และจัดเก็บอย่างไร อยู่บริเวณไหน
ระบบบริหารสินค้าที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจรู้ว่าสินค้าตัวใดเป็นที่ต้องการ สินค้าไหนกำลังขาดมือและต้องจัดซื้อ/ผลิตเพิ่ม ช่วยให้รู้ว่าลูกค้าหรือตลาดกำลังต้องการสิ่งใด
ทั้งนี้ ระบบบริหารที่ครบฟังก์ชันจะสามารถดูแลจัดการการเคลื่อนไหวของสินค้าได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่
- ระบบบริหารสินค้าแบบเดี่ยว (Single Product) เป็นระบบบริหารสินค้าแบบชิ้นต่อชิ้น หมายความว่า เมื่อมี 1 ออร์เดอร์เข้ามา จะมีสินค้าออกจากคลังหรือสต็อก 1 รายการ
- ระบบบริหารสินค้าแบบกลุ่ม (Bundle Product) หมายถึง ระบบบริหารสินค้าที่เข้าใจและจัดการออร์เดอร์ที่มีความซับซ้อนได้ เช่น เมื่อมี 1 ออร์เดอร์เข้ามา อาจจะมีสินค้าที่ออกจากคลังไปมากกว่า 1 รายการ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นสินค้าประเภทเดียวกัน
4. ระบบจัดการการขนส่ง (Transportation Management System)
ระบบบริหารจัดการการขนส่ง หรือ Transportation Management System (TMS) คือ ระบบที่ช่วยบริหารงานขนส่งต่างๆ งานโลจิสติกส์ (Logistics) โดยหน้าที่ของระบบจัดการการขนส่ง คือ ช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผน และบริหารงานขนส่งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงรักษาคุณภาพของสิ่งของ ตลอดจนลดต้นทุนการขนส่งลง
ระบบจัดการการขนส่งจะครอบคลุมกระบวนการขนส่งตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ได้แก่
- การรับคำสั่งการขนส่งและการตรวจสอบสถานะการขนส่ง
- การยืนยันการรับงาน
- การจัดการเส้นทางและเที่ยวรถ
- การติดตามสถานะการขนส่ง เช่น ยานพาหนะ อุปกรณ์ พนักงาน
- ระบบยืนยันการรับของ
- การเก็บชำระเงินและบันทึกรายรับรายจ่าย
- การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่ง ฯลฯ
ประโยชน์ของระบบจัดการการขนส่งที่ดี
- ช่วยจัดสรรตารางการวิ่งรถหรือการขนส่งให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
- ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ เพิ่มความพึ่งพอใจให้กับลูกค้า จากระบบการติดตามสถานะการขนส่ง
- บันทึกทุกกิจกรรมและข้อมูลต่างๆ สำหรับตรวจสอบหรือวิเคราะห์วางแผน เช่น เส้นทางเดินรถ ค่าใช้จ่าย การยืนยันรับสินค้า ระยะเวลาที่ใช้ขนส่ง เป็นต้น
- ช่วยลดเอกสารและงานซ้ำซ้อนในการบันทึกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานขนส่ง
- ใช้สำหรับสรุปค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เพื่อวิเคราะห์และวางแผนต่อไป
5. ระบบโอนย้ายสินค้า (Inventory Transfers)
ระบบโอนย้ายสินค้า หรือ Inventory Transfers คือ ระบบที่เข้ามาจัดการเรื่องการย้ายสินค้าไม่ว่าจะจากคลังหนึ่งไปอีกคลังสินค้าหนึ่งหรือระหว่างโรงงาน เพราะในธุรกิจหนึ่งอาจมีคลังสินค้ามากกว่าหนึ่งคลัง โดยกระบวนการย้ายสินค้าส่วนใหญ่แล้วจะมีกระบวนการทั้งสิ้น 4 กระบวนการด้วยกัน
5.1 สร้างรายการโอนย้ายสินค้า (Inventory List)
เป็นการจัดทำรายการและจำนวนสินค้าที่จะย้าย โดยสินค้าที่จะโอนย้ายต้องอยู่ในคลังสินค้าคงคลังต้นทางก่อนอยู่แล้ว ถึงจะสามารถโอนย้ายได้
5.2 ดำเนินการโอนย้ายสินค้า
เป็นการดำเนินงานย้ายสินค้าออกจากคลัง ซึ่งในขั้นตอนนี้รายการสินค้าที่โอนย้ายจะถูกลบออกจากคลังสินค้าเดิม โดยจะมีการบันทึกใบแจ้งสินค้าออก (Goods-out note)
5.3 จัดส่งใบแจ้งสินค้าออก (Goods-out note)
เป็นการออกใบแจ้งสินค้าออกเมื่อสินค้าเริ่มดำเนินการโอนย้ายแล้ว เมื่อใบแจ้งสินค้าออกส่งให้ดำเนินการแล้ว สินค้าที่โอนย้ายมาจะอยู่ในสถานะ “อยู่ระหว่างการขนส่ง” และจะไม่มีสินค้าอยู่ในคลังสินค้าเดิม
5.4 รับสินค้าที่คลังสินค้าปลายทาง
เมื่อสินค้าถูกโอนย้ายมาที่คลังสินค้าปลายทางแล้ว ข้อมูลสินค้าเหล่านี้จะถูกนำเข้าเป็นสินค้าคงคลังของคลังสินค้าใหม่
6. ระบบตั้งหน่วยนับสินค้า (Unit of Measurement)
หน่วยนับสินค้า (Unit of measurement) คือ การนับหน่วยของสินค้าหนึ่งๆ เช่น แก้วนับเป็น “ใบ” โต๊ะนับเป็น “ตัว” หรือสินค้าบางรายการนับเป็น “ชิ้น” เป็นต้น ซึ่งในระบบงานจัดการคลังสินค้านั้น ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า เราจะเรียกลักษณะนามของสิ่งของว่าอะไร แต่อยู่ที่ว่า “หน่วยนับสินค้า” นับอย่างไร เมื่อมีสินค้าเข้า-ออกจากคลัง
หน่วยการนับสินค้าจะแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะการนับ ได้แก่
- การนับสินค้าที่มีหน่วยนับชิ้นเดียว (Single Unit) หมายความว่า ของ 1 อย่าง มี 1 อย่าง เช่น ขวดน้ำ 1 ขวด
- การนับสินค้าที่มีหน่วยนับหลายชิ้น (Multiple Unit) หมายความว่า ของ 1 อย่าง อาจมีได้หลายชิ้น เช่น ขวดน้ำ 1 โหล เท่ากับ ขวดน้ำ 12 ขวด
ความซับซ้อนของการนับหน่วยสินค้าจะอยู่ที่แบบที่สอง คือ หนึ่งหน่วยมีหลายชิ้น ระบบตั้งหน่วยนับสินค้าจะเข้ามาช่วยกำหนดจำนวนที่แท้จริงของหน่วยนับต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่น
สินค้า A จำนวนหนึ่งโหล เท่ากับ สินค้า A 12 หน่วย
สินค้า B จำนวนหนึ่งกล่อง เท่ากับ สินค้า B 10 หน่วย
สินค้า C จำนวนหนึ่งแพ็ค เท่ากับ สินค้า C 6 หน่วย
นอกจากนี้ ความซับซ้อนอีกหนึ่งอย่างของการตั้งหน่วยนับสินค้า ก็คือ การตั้งอัตราส่วน เช่น สินค้า 1 แพ็ค มี 6 หน่วย และสินค้า 1 โหล มี 12 หน่วย ดังนั้น สินค้า 2 แพ็ค จะต้องเท่ากับสินค้า 1 โหล หรือ 12 หน่วย เป็นต้น
หากระบบจัดการคลังสินค้า (WMS) ขาดการจัดการหน่วยนับที่ดีจะทำให้สินค้าคงคลังมีปัญหา ไม่สามารถหยิบสินค้าส่งออก หรือนำเข้าสินค้าเข้าคลังได้เป็นจำนวนที่ถูกต้อง
7. ระบบช่วยสรุปภาพรวมในระบบจัดการคลังสินค้า (Report)
นอกจากระบบต่างๆ ที่ช่วยดำเนินกิจกรรมภายในระบบจัดการคลังสินค้าแล้ว อีกส่วนสำคัญก็คือ ระบบรายงานผล ที่ช่วยให้ธุรกิจเห็นภาพรวมและสามารถบริหารระบบจัดการคลังสินค้าได้
โดยระบบรายงานผลจะช่วยสรุปภาพรวมออกเป็นรายงาน ดังนี้
7.1 Stock Ledger
รายการบันทึกธุรกรรมทั้งหมด ซึ่งดึงข้อมูลมาจากระบบอื่นๆ ในระบบจัดการคลังสินค้า (WMS) โดยจะแสดงรายละเอียด
เช่น วันที่ที่เกิดธุรกรรม จำนวนสินค้าที่เข้าหรือออก จำนวนสินค้าคงเหลือ ฯลฯ เพื่อใช้อ้างอิงและเป็นฐานข้อมูลของระบบจัดการคลังสินค้า โดยเราสามารถเลือกกรองข้อมูล เช่น ระยะเวลา หรือเลือกดูคลังสินค้าที่เจาะจง ที่ต้องการดูได้
7.2 Stock Balance
รายงานที่แสดงข้อมูลว่ามีสินค้าคงเหลือ ซึ่งประกอบด้วย 2 รายละเอียดหลัก ได้แก่
- Balance Quantity จำนวนคงเหลือในคลัง
- Balance Value มูลค่าของสินค้าคงเหลือ
7.3 Stock Summary
รายงานสรุปสถานะของสินค้าว่ามีสินค้า/สิ่งของอะไรเข้า-ออกคลัง จำนวนคงเหลือ ยอดการเบิกใช้งาน ฯลฯ ซึ่งข้อมูลจะถูกอัปเดตเสมอเมื่อเกิดกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งขึ้นกับสินค้า
ด้วย “รายงานสรุปสต็อก” จะช่วยให้ธุรกิจหรือคนที่ดูแลคลังสินค้ารู้ว่า สินค้าใดขายดีหรือมีการเคลื่อนไหวอย่างไรในแต่ละวันหรือแต่ละช่วงเวลา เข้าใจงานขายและความต้องการของลูกค้า (Demand) รู้ว่าสินค้าอะไรกำลังสร้างกำไรให้ธุรกิจ
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจวางแผนและตัดสินใจต่อไป
สรุป 7 องค์ประกอบของระบบจัดการคลังสินค้า
องค์ประกอบของระบบจัดการคลังสินค้า หรือ Warehouse Management System มีดังนี้
- ระบบสินค้าเข้า (Stock Entry) ช่วยติดตามสินค้าเข้าคลัง
- ระบบจัดการและเอกสารต่างๆ (Documenting) ช่วยทำเอกสารและใบเบิกต่างๆ
- ระบบบริหารสินค้า (Inventory Management) ช่วยจัดการสินค้าในคลัง
- ระบบจัดการการขนส่ง (Transportation Management System) ช่วยควบคุมการขนส่งสินค้า
- ระบบโอนย้ายสินค้า (Inventory Transfers) ดูแลการโอนย้ายสินค้าระหว่างคลัง
- ระบบตั้งหน่วยนับสินค้า (Unit of measurement) ช่วยตั้งระบบในการกำหนดจำนวนและอัตราส่วนของหน่วยนับสินค้า
- รายงานสรุปภาพรวมสินค้า (Report)
ระบบงานทั้ง 7 ส่วนนี้เป็นฟันเฟืองจัดการงานที่ระบบจัดการคลังสินค้าควรมี เพื่อที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการคลังสินค้าได้ครบถ้วน รอบด้าน ช่วยทุนแรงการทำงานที่ซ้ำซ้อนจำเจ และช่วยให้ธุรกิจมีข้อมูลในการดำเนินธุรกิจให้ก้าวหน้าต่อไป
หากคุณกำลังมองหาระบบจัดการคลังสินค้าที่พร้อมปรับแต่งให้เข้ากับธุรกิจของคุณแบบเป๊ะๆ อย่าลืมปรึกษาเรา ทีมงาน 1stCraft พร้อมดูแลระบบและให้คำปรึกษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายนะครับ