Cover บทความ ระบบ PHR

ระบบ PHR คืออะไร? เจาะลึก รู้ครบใน 5 นาที

mins read   1stCraft Team

ข้อมูลด้านสุขภาพที่จำเป็นกับการดูแลรักษาสุขภาพ ในปัจจุบันถูกจัดเก็บไว้ในหลากหลายระบบ โดยแบ่งตามองค์กรผู้จัดเก็บและบันทึกข้อมูล ได้แก่ EMR หรือเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์, EHR หรือระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ 

และอีกระบบเก็บบันทึกข้อมูลสุขภาพอย่างระบบ PHR หรือ Personal Health Record ก็เป็นระบบที่ผู้ป่วย/บุคคลเป็นผู้บันทึกด้วยตัวเอง และมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าข้อมูลสุขภาพและการรักษาจากสถานพยาบาลเลย

สำหรับข้อมูลจาก PHR จะมีอะไรบ้าง ระบบ PHR มีความสำคัญอย่างไรและทำงานร่วมกับระบบอื่นๆ ในโรงพยาบาลอย่างไรบ้าง เรามาเจาะลึกและทำความเข้าใจกันเร็วๆ ภายใน 5 นาที

Personal Health Record หรือ ระบบ PHR คืออะไร

Personal Health Record หรือ ระบบ PHR คืออะไร

Personal Health Record หรือ PHR คือ บันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย ประกอบไปด้วยข้อมูล เช่น ข้อมูลติดต่อ น้ำหนัก-ส่วนสูง การแพ้ยา ประวัติการรับวัคซีน ประวัติการผ่าตัด เป็นต้น ในอดีตการบันทึกจะอยู่ในรูปแบบสมุดเล่ม (Physical Book) ซึ่งมีข้อเสียที่ไม่สามารถแชร์กับสถานพยาบาลหรือองค์กรต่างๆ ได้ทันทีและสมุดอาจเสื่อมโทรมจนข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือเสียหายได้ 

อย่างไรก็ตาม Personal Health Record ได้พัฒนามาอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถแบ่งปันข้อมูลให้กับแพทย์หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ทันทีอย่างง่ายดาย รวมทั้งสามารถซิงค์กับระบบจัดการข้อมูลในโรงพยาบาลระบบอื่นๆ ได้อีกด้วย

ระบบ PHR มีข้อมูลผู้ป่วยอะไรบ้าง

ข้อมูลในระบบ PHR จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพในด้านต่างๆ ประกอบไปด้วยข้อมูลที่มาจาก 

1) โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล 

2) จากการบันทึกด้วยตัวเองของผู้ป่วย 

ซึ่งข้อมูลประเภทที่บันทึกด้วยตัวเองอาจมาจากอุปกรณ์ตรวจวัดแบบพกพา เช่น นาฬิกาหรือเครื่องตรวจชีพจรแบบติดตัว อุปกรณ์ติดตัวประเภทอื่นๆ เครื่องตรวจความดันที่บ้าน รวมไปถึงระบบเซนเซอร์หรือ IoT (Internet of Things) ที่ตรวจวัดค่าต่างๆ เกี่ยวกับสุขภาพได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลด้านสุขภาพที่จะบันทึกในระบบ PHR จะประกอบไปด้วยข้อมูลหลักๆ เหล่านี้

  • ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้ป่วย (Demographic Information)
  • ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น น้ำหนัก-ส่วนสูง ความดัน สถานะสัญญาณชีพจร เป็นต้น
  • ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษา การนัดหมายพบแพทย์
  • ข้อมูลและประวัติการแพ้
  • ประวัติครอบครัว เช่น โรคทางกรรมพันธุ์ 
  • ประวัติและรายละเอียดการรับวัคซีน
  • ข้อมูลเกี่ยวกับโรคและสภาพร่างกาย
  • รายชื่อยาที่ใช้
  • ประวัติการรักษาในสถานพยาบาล
  • ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดที่เคยได้รับ

และนอกจากจากข้อมูลข้างต้น แล้ว PHR ในปัจจุบัน ยังสามารถใช้เป็นบันทึกพฤติกรรมได้และการติดตามเป้าหมายการดูแลสุขภาพ เช่น จำนวนวันที่เลิกเหล้า จำนวนวันที่เลิกสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่าง EMR, EHR, และระบบ PHR

ความสัมพันธ์ระหว่าง EMR, EHR, และระบบ PHR
ขอบคุณรูปภาพจาก THIS

ความสัมพันธ์ของระบบจัดการข้อมูลผู้ป่วยแต่ละระบบ คือ การแบ่งปันหรือซิงค์ข้อมูลระหว่างกันภายในระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (HIS) เพื่อให้แพทย์มีข้อมูลที่เพียงพอกับการประเมิน วินิจฉัย และตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาได้อย่างแม่นยำ โดยไม่จำเป็นต้องขอข้อมูลกับผู้ป่วยซ้ำซ้อน 

1. ระบบ PHR (Personal Health Record)

บันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย บันทึกข้อมูลผู้ป่วย บุคคลอ้างอิง การส่งต่อ การเข้ารับการรักษา รวมไปถึงข้อมูลสุขภาพทั่วไปที่ผู้ป่วยสามารถบันทึกได้ด้วยตัวเอง เป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุด ซึ่งในปัจจุบันที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็สามารถบันทึกการใช้ยาได้ด้วย 

นอกเหนือจากข้อมูลที่แพทย์สามารถเข้าถึงได้ แทนการซักประวัติผู้ป่วยแล้ว ระบบ PHR ยังเป็นข้อมูลอีกส่วนที่แพทย์ต้องการสำหรับติดตามสถานะสุขภาพและการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยสามารถบันทึกเองได้ตลอดเวลา ไม่ต้องนัดหมายหรือรายงานกับแพทย์ รวมไปถึงระบบพอร์ทัลผู้ป่วย ที่ผู้ป่วยสามารถติดต่อกับแพทย์ได้จากที่ไหนก็ได้

2. ระบบ EMR (Electronic Medical Record)

เวรระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นระบบจัดเก็บข้อมูลด้านการรักษาและข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยที่บันทึกโดยแพทย์หรือสถานพยาบาล เป็นระบบที่เชื่อมโยงระหว่างสถานพยาบาล รวมทั้งข้อมูลจากห้องแล็บส์ 

ระบบ EMR เป็นระบบจัดการข้อมูลที่มีความซับซ้อนและละเอียดมากกว่า PHR เป็นข้อมูลที่ช่วยให้แพทย์ทราบถึงการรักษาที่ผู้ป่วยเคยได้รับ อย่างไรก็ตาม ข้อมูล EMR ไม่ถึงว่าเป็นข้อมูลผู้ป่วยแบบองค์รวม แพทย์ยังต้องการข้อมูลบางส่วนจาก PHR ในการประเมินและตัดสินใจ

3. ระบบ EHR (Electronic Health Record)

ระบบ EHR หรือ ระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ เป็นระบบจัดการข้อมูลด้านสุขภาพที่ดึงข้อมูลจากระบบ EMR และ PHR หรือในอีกความหมาย คือ เป็นระบบที่รวมข้อมูลจากทั้งแพทย์และผู้ป่วยเข้ามาไว้ด้วยกัน ทำให้ระบบมีข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยในองค์รวมมากที่สุด

เมื่อแพทย์หรือสถานพยาบาลต้องการเข้าถึงข้อมูลเพื่อทำการรักษาผู้ป่วย ก็เพียงเข้าถึงข้อมูลผ่านฐานข้อมูลของ EHR ได้ นอกจากนี้ ระบบ EHR ยังสามารถซิงค์และแชร์ข้อมูลกับสถานพยาบาลอื่นๆ และองค์กรอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น องค์กรที่ดูแลสิทธิ์รักษาพยาบาล องค์กรที่ดูแลเรื่องประกัน เป็นต้น

รูปแบบของ PHR มีอะไรบ้าง แล้วรูปแบบไหนดีที่สุด?

ระบบ PHR มีรูปแบบหลักๆ อยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน

1. Standalone Personal Health Record

Standalone Personal Health Record คือ ระบบบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลที่ ไม่ได้ขึ้นกับสถานพยาบาลใดๆ ผู้ป่วย/บุคคลเป็นผู้บันทึกข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองทั้งหมด โดยข้อมูลอาจจัดเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ส่วนตัว หรือบนอินเทอร์เน็ต 

แต่ระบบ PHR ระบบนี้ อาจสามารถเชื่อมต่อกับระบบภายนอกได้ด้วยเช่นกัน เช่น แชร์ให้กับโรงพยาบาล แชร์กับสมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลอื่น เป็นต้น 

ข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลสุขภาพทั่วไปและข้อมูลเชิงพฤติกรรมที่ผู้ป่วยบันทึก เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร

2. Tethered Personal Health Record

Tethered Personal Health Record คือ ระบบบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพที่ผูกกับระบบ EHR (ระบบระเบียนสุขภาพ) ของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ดังนั้น ผู้ป่วยจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลและประวัติการรักษาของตัวเองได้ 

ไม่ว่าจะเป็น ผลการตัวสุขภาพ ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ประวัติการฉีดวัดซีนจากโรงพยาบาล ตลอดจนวันนัดหมายพบแพทย์ เป็นต้น 

ระบบ PHR ในรูปแบบนี้ ช่วยให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยได้ทันที ในขณะที่ผู้ป่วย ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลก็สามารถเข้าถึง และใช้เป็นพอร์ทัล (Patient Portal) ในการติดต่อกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลได้ อย่างไรก็ตาม รูปแบบนี้ยังมีข้อด้อย คือ ผู้ป่วยไม่มีอำนาจในการบันทึกข้อมูลมากนัก

3. Interconnected Personal Health Record

Interconnected Personal Health Record คือ ระบบ PHR ในรูปแบบที่รวมรูปแบบ “Standalone” และรูปแบบ “Tethered” เข้าไว้ด้วยกัน ข้อมูลในระบบ PHR รูปแบบนี้ จะมีทั้งข้อมูลจากแพทย์หรือสถานพยาบาลและมีข้อมูลที่ผู้ป่วยเป็นผู้บันทึกหรือติดตามเองด้วย 

ทำให้ข้อมูลสุขภาพจากบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยรูปแบบนี้มีข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุด แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากสถานพยาบาลและได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน หรือข้อมูลเชิงพฤติกรรมของผู้ป่วยได้ จึงเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบ PHR ที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม รูปแบบนี้ยังมีความท้าทายเรื่องการบันทึกข้อมูลด้วยตัวเองของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์/โรงพยาบาลควรสร้างความเข้าใจ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็น ประโยชน์ และสอนวิธีบันทึกข้อมูลที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วย 

ประโยชน์ของการใช้ระบบ PHR: Personal Health Records 

หากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลนำระบบบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์ (EPHR) มาใช้จริง ทั้งโรงพยาบาลและผู้ป่วยก็จะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงและจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ

  • แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันที โดยที่ไม่ต้องทำนัดหมายเรียกผู้ป่วยมาอัปเดตข้อมูล หรือในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ข้อมูลด้านสุขภาพได้ ระบบ PHR ที่มีข้อมูลในอดีตด้วย จะช่วยให้ข้อมูลแทน
  • ผู้ป่วยมีเครื่องมือในการติดตามพฤติกรรม มีผลวิจัยพิสูจน์ว่า ระบบ PHR ที่ผู้ป่วยสามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพและติดตามพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร หรือการลดละเลิกการดื่มแอลกอฮอร์ ช่วยให้ผู้ป่วยบรรลุเป้าหมายสุขภาพได้มากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยกินยาได้ตรงตามเวลามากขึ้น รวมทั้งใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากขึ้น
  • เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลจากผู้บันทึกข้อมูลที่หลากหลาย ระบบ PHR จะช่วยดึงข้อมูลจากแต่ละแหล่ง เช่น โรงพยาบาล คลินิกพิเศษ ห้องปฏิบัติการ และข้อมูลที่ผู้ป่วยเป็นผู้บันทึก เป็นต้น เข้าไว้ด้วยกันโดยที่มีการจัดเรียงข้อมูลอย่างเป็นระบบ และสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย
  • ลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการบริหารจัดการข้อมูล ช่วยลดขั้นตอนในการซักประวัติ ลดเวลาในการเข้าถึงข้อมูลของแพทย์และเจ้าหน้าที่ สามารถใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจหรือตอบคำถามผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว  
  • เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ ผ่านระบบ PHR และพอร์ทัลผู้ป่วย (Patient Portal) ที่มีความปลอดภัย และเห็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือชุดเดียวกัน
  • ใช้จัดการข้อมูลด้านสุขภาพของครอบครัวได้ ผู้ป่วยสามารถแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพให้กับครอบครัวได้และบันทึกข้อมูลที่สำคัญ เช่น โรคทางพันธุกรรม ประวัติโรคและประวัติการรักษาของสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น ในบางกรณีข้อมูลสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวจำเป็นกับการวินิจฉัย

PHR ระบบบันทึกสุขภาพที่ผสานข้อมูลจากแพทย์และผู้ป่วย

ระบบ PHR คือ ระบบบันทึกข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยที่ประกอบไปด้วยข้อมูลทั่วไป ข้อมูลด้านสุขภาพ และประวัติการรักษา โดยระบบ PHR เป็นส่วนหนึ่งของระบบสารสนเทศโรงพยาบาล เชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลกับระบบเวชระเบียนและระเบียนสุขภาพผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์หรือโรงพยาบาลมีข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยแบบองค์รวม 

และระบบ Personal Health Record รูปแบบที่ดีที่สุด คือ ระบบ PHR ที่ทั้งสถานพยาบาลและตัวผู้ป่วยเองสามารถบันทึกข้อมูลเองได้ 

ประโยชน์ของระบบ PHR จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่โรงพยาบาลบันทึกและข้อมูลที่ผู้ป่วยบันทึก เพราะยิ่งข้อมูลมีความสมบูรณ์และมีความถูกต้องมาเท่าไร แพทย์ก็ยิ่งวินิจฉัยและหาทางรักษาได้รวดและแม่นยำ และผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ

อ่านต่อ: ทำความรู้จักภาพรวมของระบบโรงพยาบาล หรือ HMS: Hospital Management System

สนใจวางระบบโรงพยาบาล