Page Speed คือ ความเร็วที่แต่ละหน้าเว็บเพจ (webpage) แสดงผลให้กับผู้ใช้งาน โดยแต่ละหน้าเว็บเพจก็จะมีความเร็วในการโหลดแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ
ในการปรับแต่ง Page Speed ให้เว็บเพจแต่ละหน้าโหลดได้เร็ว ช่วยให้ผู้ใช้งานที่คลิกเข้ามาดูเนื้อหาไม่ต้องรอให้เว็บโหลดนาน จึงลดโอกาสในการกดปิดหน้าเว็บ และยังมีผลต่อการจัดอันดับของเว็บไซต์บนหน้าค้นหาของ Google ด้วย
สำหรับเจ้าของเว็บไซต์ที่ยังไม่เคยปรับปรุงความเร็วในการโหลดให้กับตัวเว็บธุรกิจ มาดูกันว่า Page Speed คืออะไร? พร้อมทั้งเทคนิคการปรับแต่งเว็บไซต์ให้ลื่นปรื้ด พาเว็บไซต์ทะยานติดหน้าแรกของการค้นหา ด้วยวิธีที่ถูกต้องและปลอดภัย
Page Speed คืออะไร? สำคัญต่อเว็บไซต์อย่างไร?
Page Speed คือ การวัดความเร็วในการแสดงผลเนื้อหาของหน้าเพจใดเพจหนึ่ง ตั้งแต่เริ่มจนเสร็จสิ้น โดยจะมีองค์ประกอบหลายอย่างบนเว็บไซต์ที่ส่งผลต่อความเร็ว เช่น ขนาดของรูปภาพ, วิดิโอ, HTML, CSS รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้เข้าชมเว็บ เว็บเซิร์ฟเวอร์ ระบบปฏิบัติการ และเว็บเบราว์เซอร์
สำหรับการวัดค่า Page Speed จะแยกการวัดค่าเว็บไซต์ที่แสดงผลบน Desktop และบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ออกจากกัน เนื่องจากทั้ง 2 ช่องทาง มีเทคโนโลยีที่ต่างกัน จึงให้ผลลัพธ์และประสบการณ์ในการแสดงผลกับผู้ใช้งานที่ไม่เหมือนกัน
ทำไมจึงต้องให้ความสำคัญกับ Page Speed
Page Speed คือหนึ่งในหัวใจหลักของการทำ SEO โดย Google จะใช้เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบ ดูว่าเว็บไซต์ของธุรกิจคุณ สร้างประสบการณ์ในการใช้ใช้งานที่ดีให้กับผู้ใช้งานหรือไม่ และให้คะแนนในการจัดอันดับ
ถ้าเว็บไซต์ธุรกิจของคุณโหลดช้า ต้องรอนานเกินกว่า 3 วินาที โอกาสที่คนคลิกเข้ามาจะไม่อยากรอนาน และกดปิดหน้าต่างเพื่อไปยังเว็บไซต์ธุรกิจอื่นแทนก็จะมีเยอะขึ้น ทำให้ธุรกิจเสียโอกาสในการขายหรือเสียลูกค้าไปได้ง่ายๆ
ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เว็บไซต์มีโอกาสถูกคลิกปิดไปได้ง่ายๆ เช่น
- หน้าเว็บใช้งานไม่ได้ ปุ่ม ฟีเจอร์ กดแล้วไม่ตอบสนอง
- มีข้อมูลบางจุด หรือทั้งหน้าที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตอบคำถามที่ผู้ใช้งานอยากรู้ หรือไม่เกี่ยวข้องเลย
- การจัดวางเลย์เอาท์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ผู้ใช้งานรู้สึกว่าใช้งานยาก
เมื่อเว็บไซต์ถูกคลิกปิดบ่อยๆ จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของ Bounce rate หรือการที่ผู้ใช้งานเข้ามาชมเว็บไซต์ในระยะเวลาสั้นๆ และถูกคลิกปิดทันทีบ่อยครั้ง จะทำให้ Google มองว่าเว็บไซต์ของคุณสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีให้กับผู้ใช้งาน จึงส่งผลให้เว็บไซต์ธุรกิจถูกลดอันดับบนหน้าค้นหาได้นั่นเอง
จะวัดค่า Page Speed ของเว็บไซต์ได้อย่างไร?
ในช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา ทาง Google ได้ประกาศใช้งาน Core Web Vitals สำหรับใช้วัดค่าองค์ประกอบต่างๆ ภายในเว็บไซต์ที่ส่งต่อความเร็วของหน้าเว็บเพจแต่ละหน้า และส่งผลต่อการจัดอันดับของเว็บไซต์ด้วย
โดย Core Web Vitals แบ่งองค์ประกอบออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่
1. Largest Contentful Paint (LCP) เป็นการวัดค่าที่เกี่ยวกับความเร็วในการโหลดคอนเทนต์ทั้งหมดบนหน้าเว็บเพจ ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ รูปภาพ วิดิโอ
2. First Input Delay (FID) เป็นการวัดค่าความเร็ว ที่เกี่ยวกับการตอบสนองของคำสั่งต่างๆ บนหน้าเว็บเพจกับผู้ใช้งาน เช่น การคลิกปุ่ม
3. Cumulative Layout Shift (CLS) เป็นการวัดค่าความเสถียรของการจัดวาง Layout บนหน้าเว็บเพจนั้น เช่น ปุ่มที่เลื่อนไปมาไม่อยู่กับที่ ปุ่มทับกัน ขนาดข้อความที่ไม่เท่ากัน การเลื่อนของข้อความทำให้มีพื้นที่โล่งมากเกินไป
นอกจาก Core Web Vitals แล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ Google ใช้ในการวัดค่าบนเว็บไซต์ด้วย เพื่อดูว่าเว็บไซต์ของธุรกิจคุณมอบประสบการณ์ในการใช้งานที่ดีต่อผู้ใช้งานหรือไม่
หากคุณต้องการวัดค่า Page Speed ของเว็บไซต์ ทาง Google มีเครื่องมือที่ชื่อว่า PageSpeed Insights ที่เปิดบริการให้คุณเข้าไปเช็กความเร็วในการโหลดของเว็บไซต์
เพียงนำ URL ของหน้าเว็บเพจที่ต้องการใส่ในช่องวิเคราะห์ข้อมูล และเครื่องมือจะแสดงข้อมูลต่างๆ ทั้งการคำนวณ Core Web Vitals คะแนนประสิทธิภาพของเว็บ รวมถึงบอกว่าจุดไหนของเว็บที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้คะแนนดีขึ้นอีก
เทคนิคปรับแต่ง Page Speed ติดจรวดให้เว็บไซต์
การลดขนาดไฟล์ จัดระเบียบหลังบ้านของเว็บไซต์ให้มีระเบียบ รวมไปถึงการติดตั้ง Plugin บางตัว จะช่วยเพิ่มความเร็วในการโหลดของเว็บไซต์ได้ โดยเทคนิคที่สามารถปรับแต่งเว็บไซต์เบื้องต้นมีดังนี้
1. ลดขนาดของสคริปภายในเว็บ
การลดขนาดของสคริปภายในเว็บ ไม่ว่าจะเป็น HTML, CSS, JavaScript จะช่วยเพิ่มความเร็วในการโหลดข้อมูลของเว็บได้ โดยจะเป็นการลบสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากซอร์สโค้ด เช่น ความคิดเห็น ช่องว่างแบ่งบรรทัด การเว้นวรรค
สำหรับการลดขนาดของสคริป สามารถทำได้ด้วยการใช้เครื่องมือช่วยย่อสคริป เช่น Toptal, JSCompress หรือถ้าไม่มีทีมที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำเว็บ สามาถเลือกติดตั้ง Plugins ซึ่งมีอยู่หลากหลายตัวให้คุณได้เลือกใช้ เช่น WP Rocket, WP Fastest Cache
2. การเก็บ Cache ของเนื้อหา
การเก็บ Cache ของเนื้อหา ช่วยให้ผู้ใช้งานที่เคยเข้ามาชมเว็บไซต์ของธุรกิจแล้ว สามารถโหลดหน้าเว็บได้เร็วขึ้นในครั้งถัดไป โดยระบบจะดึงเอา Cache ของเนื้อหาเดิมที่เคยโหลด มาแสดงผล ทำให้ไม่ต้องรอโหลดหน้าเว็บใหม่ทั้งหมด
สำหรับ Plugins ที่ใช้ในการเก็บ Cache ของเนื้อหา เช่น W3 Total Cache, WP Rocket, WP Super Cache
3. การใช้งาน CDN (Content Delivery Network)
CDN หรือ Content Delivery Network เป็นบริการฝาก Cache ของเว็บไซต์ไว้กับเซิร์ฟเวอร์ที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยทั่วไปแล้วถ้าเว็บไซต์ของธุรกิจฝาก Hosting ในไทย ผู้ใช้งานที่อยู่ในพื้นที่ประเทศ ก็จะสามารถเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างรวดเร็วไม่มีปัญหาอะไร
แต่ถ้าหากเว็บไซต์ธุรกิจของคุณ ต้องการลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศด้วย การโหลดข้อมูลเว็บไซต์จากเซิร์ฟเวอร์ในไทยไปยังต่างประเทศก็จะช้าลง ทำให้ผู้ใช้งานที่อยู่ต่างประเทศต้องรอเวลาโหลดนานกว่า
นั่นจึงทำให้การใช้งาน CND จะช่วยให้ผู้ใช้งานที่อยู่ต่างประเทศ สามารถโหลดหน้าเว็บของธุรกิจเราได้เร็วขึ้น จาก Cache ที่ฝากไว้กับเครือข่ายของเซิร์ฟเวอร์ CND บริเวณใกล้เคียงนั่นเอง
สำหรับ CND ก็มีอยู่หลายที่ที่เปิดให้บริการ โดยเว็บที่เป็นที่รู้จักและหลายเว็บไซต์ธุรกิจเลือกใช้ เช่น Cloudflare, Google Cloud CDN, Amazon CloudFront
4. การใช้ Lazy Load
สำหรับการใช้งาน Lazy Load จะเป็นการเลือกโหลดเฉพาะส่วนที่ผู้ใช้งานกำลังดูอยู่ก่อน โดยที่ส่วนอื่นๆ ยังไม่โหลดขึ้นมา พอเลื่อนลงค่อยทำการโหลดเนื้อหาในส่วนถัดไป ทำให้เว็บไซต์สามารถโหลดแสดงผลได้เร็วขึ้น
สำหรับเว็บไซต์ที่ยังไม่มี Plugins นี้ สามารถติดตั้งได้ที่ Lazy Load
5. แก้ Render-blocking Resources
เมื่อผู้ใช้งานคลิกลิงก์เข้าสู่เว็บไซต์ เบราว์เซอร์ที่ใช้งานอยู่จะทำการอ่านสคริปหลังบ้านของเว็บเพื่อแสดงผล แต่ปัญหาจะอยู่ที่เมื่ออ่านไปเจอไฟล์สคริปบางชนิด เช่น CSS, JavaScript ตัว Render-blocking Resources จะทำการหยุดอ่านสคริปและวิเคราะห์ก่อนที่จะทำการโหลดต่อ จึงส่งผลต่อความเร็วในการโหลดเว็บที่ช้าลง
หากต้องการแก้ไข Render-blocking Resources เพื่อให้เบราว์เซอร์สามารถอ่านข้อมูลบนเว็บไซต์ได้เร็วขึ้น สามารถดูวิธีการแก้ไขได้ที่ Remove Render-Blocking JavaScript
6. บีบอัดรูปภาพเพื่อลดขนาดไฟล์
เว็บไซต์ไหนที่ไม่มีการบีบอัดขนาดไฟล์รูปภาพก่อนที่จะอัปโหลดลงไป จะทำให้เว็บไซต์ต้องเสียพื้นที่ในการเก็บไฟล์รูปเยอะ รวมถึงผู้ใช้งานต้องรอโหลดภาพนาน หากภาพนั้นมีไฟล์ที่ขนาดใหญ่เกินไป
โดยการบีบอัดขนาดไฟล์ภาพก่อนอัปโหลดลงเว็บไซต์ สามารถใช้บริการได้หลายที่ เช่น Tinypng, Shortpixel, Imagify
7. ยกเครื่องเว็บไซต์ พร้อมดีไซน์เว็บใหม่
สำหรับเว็บไซต์ที่เปิดมานานหลายปีแล้ว ระบบหลังบ้านต่างๆ อาจมีความล้าสมัย หรือมีการสะสมไฟล์เก่าๆ ที่ไม่ได้ใช้งานเอาไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้ยิ่งนานวันเข้า เว็บไซต์ของธุรกิจก็ยิ่งใช้เวลาโหลดนานขึ้น
ทางแก้ปัญหาเว็บไซต์เก่าที่โหลดช้าที่ดีที่สุด นั่นคือ การยกเครื่องทั้งเว็บ รื้อระบบหลังบ้านใหม่ พร้อมรีดีไซน์ หรือการออกแบบการใช้งานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านเว็บไซต์ให้ทันสมัย
โดยการยกเครื่องเว็บไซต์ทั้งระบบใหม่ นอกจากจะช่วยให้เว็บไซต์ของคุณกลับมาโหลดเร็วแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความสดใหม่ให้เว็บไซต์น่าใช้งาน ทั้งหน้าตาของเว็บที่สวยงามทันสมัยขึ้น การตอบสนองต่อผู้ใช้งานที่ดีขึ้น รวมไปถึงการใส่ลูกเล่นใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายบนเว็บไซต์ได้สะดวกมากขึ้นด้วย
สรุปแล้ว Page Speed คืออะไร? เว็บไซต์ธุรกิจต้องให้ความสำคัญมากแค่ไหน?
Page Speed คือ ความเร็วในการโหลดของหน้าเว็บที่แสดงให้กับผู้ใช้งานเมื่อคลิกเข้าชมเว็บไซต์ โดยเป็นเหมือนประตูบานแรกที่จะทำให้ผู้ใช้งานตัดสินใจจะเข้าชมเว็บไซต์ต่อหรือไม่ หากเว็บไซต์โหลดได้เร็ว โอกาสที่ผู้ใช้งานจะเลือกอ่านเนื้อหาและทำความรู้จักกับธุรกิจผ่านเว็บไซต์ก็มีมากยิ่งขึ้น
และนอกจากการปรับแต่ง Page Speed แล้ว ก็ต้องให้ความใส่ใจองค์ประกอบอื่นๆ ของการทำเว็บไซต์ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น การทำเนื้อหาให้มีคุณภาพ การใส่เทคนิคของ SEO ทั้ง On-Page, Off-Page, Backlink เพื่อเพิ่มโอกาสให้เว็บไซต์ติดหน้าแรกของการค้นหาได้ยาวนาน ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
หากคุณต้องการให้ธุรกิจของคุณติดหน้าแรกบน Google เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน 1stCraft เราเข้าใจการทำ SEO ในทุกองค์ประกอบและมี โซลูชัน Digital Crafter ที่ช่วยให้คุณทำการตลาดดิจิทัลได้ครบทุกช่องทาง
ติดต่อเราเพื่อปรึกษาสิ่งที่คุณต้องการทำให้กับธุรกิจ เรายินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย