การดำเนินธุรกิจมีเรื่องมากมายให้ต้องจัดการและคิด เจ้าของธุรกิจต้องวางกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อทำให้ธุรกิจไปรอด มองหาโอกาสและวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ อยู่เสมอ
แต่บางธุรกิจที่กำลังจมอยู่กับปัญหา อาจจะต้องการ “วิสัยทัศน์” หรือ “ข้อคิดเห็น” จากมุมมองคนนอก เพื่อช่วยชี้แนะหนทางที่ธุรกิจอาจมองข้ามหรือนึกไม่ถึง นี่คือความสำคัญของ “ที่ปรึกษาธุรกิจ” (Business Consultant) ที่ธุรกิจของคุณอาจกำลังต้องการ
ใบบทความนี้ เราจะมาแนะนำให้คุณรู้จักที่ปรึกษาธุรกิจเพิ่มเติมว่าคืออะไร หน้าที่ของที่ปรึกษาธุรกิจทำอะไรบ้าง แล้วบริษัทแบบไหนบ้างที่ควรจ้างที่ปรึกษาธุรกิจ
ที่ปรึกษาธุรกิจ (Business Consultant) คืออะไร
ที่ปรึกษาธุรกิจ (Business Consultant) คือ ผู้เชี่ยวชาญหรือบริษัทที่รับจ้างให้คำปรึกษาด้านการทำธุรกิจ ด้วยความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ความรู้ ทำหน้าที่ช่วยเหลือธุรกิจให้สามารถแก้ปัญหาหรือมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้
นอกจากนี้ ที่ปรึกษาธุรกิจยังให้คำปรึกษาด้านการจัดการต่างๆ เช่น การเงินและบัญชี การจัดการทั่วไป ทรัพยากรมนุษย์ ฯลฯ ภายในองค์กรเพื่อช่วยให้ธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานได้ดียิ่งขึ้น สามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้ง่ายยิ่งขึ้น
ประเภทของการให้บริการที่ปรึกษาธุรกิจ
ธุรกิจเกิดจากการร่วมมือและทำงานจากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์และแผนการตลาด การขาย การบริหารองค์กร การจัดการทรัพยากรมนุษย์ ฯลฯ งานที่ปรึกษาธุรกิจจึงมีหลากหลายประเภทแบ่งตามความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษากับธุรกิจ แบ่งออกเป็น
1. ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการธุรกิจ
ที่ปรึกษากลยุทธ์และการจัดการธุรกิจ จะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านการดำเนินธุรกิจ เข้าใจการสร้างและดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ทำหน้าที่ช่วยมองหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ขยายตลาด และผลักดันยอดรายได้ของธุรกิจได้ ผ่านการให้คำแนะนำเรื่องการวางกลยุทธ์และแผนการดำเนินงาน
- ช่วยวางแผนขยายตลาดหรือหาตลาดใหม่
- ช่วยปรับโมเดลธุรกิจ (Business Model) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ช่วยปรับแผนดำเนินงานเพื่อเพิ่มขีดจำกัดความสามารถของธุรกิจ
- ช่วยธุรกิจหาพาร์ทเนอร์ กลุ่มกิจการหรือนักลงทุน (Venture) ใหม่ๆ ให้
- ช่วยเหลือและให้คำแนะนำระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงโมเดลหรือโครงสร้างธุรกิจ
2. ที่ปรึกษาด้านการจัดการองค์กร
ที่ปรึกษาธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการองค์กร ช่วยธุรกิจปรับปรุงวิธีดำเนินงานและการจัดการต่างๆ ภายในองค์กร หรือวางแผนการผลิตใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนและเวลาในการดำเนินงาน (Productivity Improvement and Cost Reduction)
ที่ปรึกษาด้านการจัดการ จะช่วยคิดหาวิธีและวางแผนการทำงานที่สร้างผลลัพธ์ได้ดีที่สุด โดยใช้ต้นทุนและเวลาเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ช่วยติดตามและควบคุมคุณภาพและต้นทุนในระหว่างปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน
3. ที่ปรึกษาธุรกิจด้านการเงิน
การเงินเป็นอีกเรื่องน่าปวดหัวสำหรับหลายๆ ธุรกิจ เพราะมีหลายเรื่องให้ต้องจัดการและค่อนข้างละเอียดอ่อน แต่การจัดการเรื่องงานถือเป็นหนึ่งในหัวใจที่ตัดสินว่า ธุรกิจจะไปรอด ขาดทุนหรือได้กำไร
โดยที่ปรึกษาธุรกิจด้านการเงินจะช่วยในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินของธุรกิจ เช่น
- การดูแลสุขภาพการเงินของธุรกิจ
- เสนอข้อคิดเห็นและชี้จุดที่สามารถปรับปรุงได้
- ช่วยให้คำแนะนำในการตัดสินใจลงทุน
- ช่วยธุรกิจจัดการสินทรัพย์ และบริหารหนี้และค่าใช้จ่าย
ตลอดจนช่วยเรื่องการวางแผนทางการเงินและให้คำปรึกษาด้านภาษีและแผนการเกษียณอายุ
4. ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล
ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลหรือ HR: Human Resource เป็นอีกที่ปรึกษาที่หลายธุรกิจใช้บริการ เพราะเจ้าของธุรกิจหลายคน ไม่ได้มีความรู้หรือความเข้าใจในการจัดการด้าน HR ทั้งเพื่อให้พนักงานหรือทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ได้รับสวัสดิการที่ดี รวมไปถึงเรื่องการจ้างงานและการปฏิบัติต่อพนักงานที่ถูกตามกฎหมาย
ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลจึงเข้ามาช่วยธุรกิจในด้านนี้ทั้งหมด ช่วยดูแลงานด้านทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กร เช่น การสรรหาและรักษาพนักงาน การดำเนินการจ่ายเงินเดือน งานเอกสารและงานธุรการ และการจัดการผลการปฏิบัติงานของพนักงานและสวัสดิการ ฯลฯ
5. ที่ปรึกษาด้านการตลาดและการขาย
ที่ปรึกษาด้านการตลาดเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการทำการตลาดต่างๆ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยวางแผนการตลาด การสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจ จะทำอย่างไรให้คนรู้จักธุรกิจ จะทำอย่างไรให้แคมเปญการตลาดสื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ
ที่ปรึกษาการตลาดจำเป็นจะต้องเข้าใจธุรกิจ ตลาด และกลยุทธ์การตลาดที่หลากหลายเพื่อเลือกเครื่องมือการตลาดที่ดีที่สุด
เช่น Social Media Marketing, Search Engine Marketing, Traditional Marketing ฯลฯ รู้จักประยุกต์ใช้เครื่องมือเหล่านี้กับทฤษฎีการตลาดต่างๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายทางการตลาด
6. ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี
เทคโนโลยีเป็นอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำธุรกิจทุกวันนี้ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีจะทำหน้าที่ช่วยให้คำแนะนำเรื่องการเลือกเครื่องมือมาใช้จัดการปัญหาต่างๆ ภายในองค์กร ที่จะช่วยให้งานต่างๆ สามารถบริหารจัดการได้ง่าย รวดเร็ว และลดโอกาสความผิดพลาดจากการทำงานลง
ไม่ว่าจะเป็นระบบ IT ช่วยดูแลระบบและเซิร์ฟเวอร์ภายในองค์กร แนะนำเครื่องมือการตลาด (MarTech) ระบบบริหารจัดการข้อมูล (Data Management System) หรือเครื่องมือบริหารจัดการองค์กร (ERP) ฯลฯ เพื่อช่วยให้ธุรกิจดำเนินธุรกิจได้สะดวก ง่าย มีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนในการดำเนินงานต่างๆ
ที่ปรึกษาธุรกิจทำอะไรบ้าง และร่วมมือกับธุรกิจอย่างไร?
บริการที่ปรึกษาธุรกิจมีหลากหลายประเภท ที่ช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายการจัดการในแต่ละด้าน แต่หากจะจ้างที่ปรึกษาธุรกิจจริงๆ ตอนนี้คุณคงยังไม่ค่อยเห็นภาพว่า ที่ปรึกษาจะเข้ามาช่วยธุรกิจได้อย่างไรบ้าง
เราจึงจะขอเล่ากระบวนการคร่าวๆ 3 ขั้นตอน ในการรวมงานกับที่ปรึกษา รวมไปถึงอธิบายว่า ในแต่ละกระบวนการที่ปรึกษาจะทำอะไรให้กับธุรกิจได้บ้าง โดยแบ่งได้ ดังนี้
- Discover: ขั้นสำรวจปัญหาหรือมองหาโอกาส
- Evaluation: ขั้นประเมินผลและสรุปวิธีการ
- Implementation: ขั้นดำเนินการ
1. Discover: ขั้นสำรวจปัญหาหรือมองหาโอกาส
ในขั้นตอนนี้ หน้าที่ของที่ปรึกษาธุรกิจ คือ ทำความเข้าใจเป้าหมายในการช่วยเหลือครั้งนี้หรือเป้าหมายในการปรับปรุง/พัฒนาธุรกิจ ที่ปรึกษาจะเข้ามาพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจและทีมที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจปัญหา ตลอดจนทำวิจัยเกี่ยวกับโอกาส โซลูชั่น หรือความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ
- ทำความรู้จักธุรกิจอย่างใกล้ชิดและลงรายละเอียด
- หาและระบุปัญหาที่ทำให้ธุรกิจไม่เติบโตหรือทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ
- วิเคราะห์ปัญหาและประเมินศักยภาพ งบประมาณ ทรัพยากร และสิ่งอำนวยความสะดวกของธุรกิจ
- กำหนดสิ่งที่จำเป็นต้องทำการเปลี่ยนแปลงและช่วยดำเนินการเปลี่ยนแปลง
ในขั้นตอนนี้ ที่ปรึกษาธุรกิจจะเข้าใจธุรกิจดีขึ้น รู้รายละเอียดเพียงพอต่อการคิดกลยุทธ์ หาวิธี และวางแผนการทำงานให้กับธุรกิจ
2. Evaluation: ขั้นประเมินผลและสรุปวิธีการ
หลังจากที่ที่ปรึกษาฯ เข้าใจธุรกิจและปัญหาอย่างดีแล้ว ขั้นตอนต่อมาจะเป็นขั้นตอนที่ที่ปรึกษาเริ่มประเมินว่า ควรปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาอะไร ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจหรือระบบงานต่างๆ ตลอดจนมองหาโอกาส และพยากรณ์อุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
- ประเมินปัญหาว่า ปัญหาที่มีอยู่ส่งผลกระทบอย่างไร มีความเร่งด่วนแค่ไหน
- ประเมินศักยภาพของธุรกิจในปัจจุบัน ว่ามีอะไรที่ปรับปรุงได้เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า
- คิดหาโซลูชั่นหรือทางแก้ไขปัญหา ตลอดจนวางโครงในการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจ
- ช่วยออกแบบกลยุทธ์ วางแผนธุรกิจและสร้างธุรกิจใหม่
- วางแผนดำเนินงานให้กับธุรกิจหรือทีมที่เกี่ยวข้อง
- แนะนำและช่วยนำแผนปรับปรุงเหล่านั้นมาใช้
ในขั้นตอนนี้ ธุรกิจและที่ปรึกษาจะต้องสื่อสารกันกลับไปกลับมา เพื่อหาโซลูชั่นที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจ รวมไปถึงการให้และรับฟีดแบกระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะช่วยให้ตกตะกอนออกมาเป็นกลยุทธ์และแผนดำเนินงานที่ดีที่สุดและทำได้จริง
3. Implementation: ขั้นดำเนินการ
เมื่อธุรกิจและที่ปรึกษาพูดคุยตกลงจนได้แผนงานที่พอใจแล้ว ที่ปรึกษามีหน้าที่ในการช่วยอำนวยให้แผนงานที่วางไว้เป็นไปได้จริง ช่วยติดตามแผน ประเมินผล รวมไปถึงช่วยตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ
- นำแนวคิดที่พร้อมใช้งานออกนอกกรอบเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ
- ให้การฝึกอบรมและทรัพยากรที่จำเป็นแก่พนักงานและผู้บริหาร
- ค้นหาผู้ให้บริการและพันธมิตรเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมาย
- ประเมิน จ้าง และลดจำนวนพนักงาน ถ้าจำเป็น
- ลงโปรแกรมใหม่ ยกเลิก-ซื้อเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ
ที่ปรึกษาธุรกิจจะเหมือนกับเป็นเจ้าของธุรกิจคนหนึ่งที่เข้ามาร่วมตัดสินใจ และกำหนดทิศทางของบริษัท อย่างไรก็ตาม สิทธิ์เด็ดขาดยังเป็นของเจ้าของธุรกิจ
ทั้งนี้ วิธีการใช้ที่ปรึกษาตัดสินใจ จะทำให้การตัดสินใจบางอย่างที่เจ้าของธุรกิจอาจจะลำบากใจ ทำได้ง่ายขึ้น หรือช่วยลดทอนปัญหาการเมืองในองค์กร เช่น การปรับลดตำแหน่ง การปรับโครงสร้างองค์กร การจัดการปัญหาด้านบุคคล ฯลฯ
ข้อดีของการจ้างที่ปรึกษาธุรกิจ ทำเองไม่ดีกว่าหรือ?
ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ธุรกิจต้องการที่ปรึกษาธุรกิจก็เพราะว่า ข้อดีในแง่ของ “มุมมองคนนอก” ที่มักจะเห็นปัญหาหรือโอกาสมากกว่าตัวธุรกิจเอง รวมไปถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของที่ปรึกษา เพราะที่ปรึกษาอาจมีประสบการณ์และกรณีศึกษาจากการให้คำปรึกษาธุรกิจหลากหลายธุรกิจ เข้าใจตลาดในมุมกว้าง มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนมากกว่า และอีกมากมาย สรุปเป็นข้อๆ ด้านล่างนี้
- ที่ปรึกษาธุรกิจสามารถให้ “มุมมองจากที่สูง” (Bird’s Eye View) ของสถานการณ์ได้ เพราะเจ้าของธุรกิจและทีมงานมักจะจดจ่ออยู่กับภาระหรือปัญหาตรงหน้ามากเกินไป การมีที่ปรึกษาอาจจะช่วยให้ธุรกิจมองเห็นแง่มุมใหม่ๆ ในการทำงาน โอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ
- ที่ปรึกษาจะมีมุมมองของคนนอกที่เข้ามาวิเคราะห์และทำความเข้าใจธุรกิจใหม่ จึงมักจะมองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจได้ชัดเจนกว่า
- ที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์จะมีข้อมูลเชิงลึก (Insight) จากธุรกิจต่างๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้เขาสามารถมองเห็นลู่ทางและเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ มาปรับใช้เข้ากับธุรกิจของเราได้
- ที่ปรึกษาธุรกิจมักจะอัปเดตเทรนด์ในด้านที่เขาเชี่ยวชาญอยู่เสมอ ช่วยให้ธุรกิจตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว
- การออกแบบแคมเปญการตลาดหรือดำเนินงานตามแผนธุรกิจใหม่อาจใช้เวลา ที่ปรึกษาจะช่วยคุมและติดตามงานให้สำเร็จตามแผนได้โดยรวดเร็ว
- การร่วมงานกับที่ปรึกษาทำให้ทีมได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นโอกาสที่ดีที่ทีมจะได้เรียนรู้งานจากผู้มีประสบการณ์
- ธุรกิจไม่ต้องเสี่ยงลองผิดลองถูก ที่ปรึกษามีประสบการณ์จากการให้คำปรึกษาและติดตามผลจากธุรกิจที่หลากหลาย ช่วยให้ที่ปรึกษาสามารถวิเคราะห์แนวโน้มและเลือกใช้กลยุทธ์ที่น่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีได้
เมื่อไหร่ที่ธุรกิจถึงต้องจ้างที่ปรึกษาธุรกิจ
บริษัทที่ต้องการที่ปรึกษา อาจจะลังเลว่า ควรจ้างหรือไม่จ้างดี ทำเองไม่ดีกว่าหรือ? จากข้อดีข้างต้นที่ได้แชร์ไปน่าจะพอเข้าใจเพิ่มขึ้นแล้วว่า มีมุมมองและประสบการณ์บางอย่างที่จำเป็นที่บริษัทต้องการจากบุคคลที่สามหรือผู้มีความเชี่ยวชาญจริงๆ แต่หากยังไม่แน่ใจว่า ควรจ้างหรือไม่ เหตุผลเหล่านี้อาจจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
1. ต้องการประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ
โดยส่วนใหญ่แล้ว บริษัทที่จ้างที่ปรึกษาธุรกิจนั้น จะต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่บริษัทไม่มี อาจจะเป็นเรื่องการเงินการบัญชีและภาษี เรื่องการจัดการทรัพยากรบุคคล
โดยเฉพาะบริษัทที่ไม่ใช่ระดับองค์กรมหาชนหรือ Enterprise มักจะไม่มีหน่วยงานในองค์กรที่ดูแลเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง การจ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเซ็ตระบบและจ้างพนักงานมาดูแล หรือส่งมอบงานให้ทีมภายนอก (Outsource) จะช่วยให้การดำเนินงานคล่องตัวและได้งานที่ถูกต้อง
2. ต้องการไอเดียใหม่ๆ สำหรับการทำธุรกิจ
หลายครั้งที่ธุรกิจพยายามคิดแนวทางการทำธุรกิจใหม่ๆ หรือต้องการแตกไลน์ธุรกิจเพิ่มเติม มักคิดไม่ออกหรือรู้สึกว่าไอเดียยังไม่หลุดออกไปจากแบบแผนการทำธุรกิจเดิม นั่นเพราะความเชี่ยวชาญและการจดจ่ออยู่กับการทำธุรกิจแบบเดิม
การที่จ้างที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อขอคำแนะนำ จะช่วยธุรกิจให้ค้นพบไอเดียหรือวิธีการใหม่ๆ ได้ง่ายกว่าเดิม จากประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ความรู้จักตลาดของที่ปรึกษา และจากสายตาคนนอกที่มองเห็นอะไรได้สดใหม่และชัดเจนกว่า
3. ต้องการความเปลี่ยนแปลงในองค์กร
หนึ่งเหตุผลสำคัญที่ต้องจ้างที่ปรึกษาก็คือ เมื่อธุรกิจต้องการการเปลี่ยนแปลง แล้วเจ้าของธุรกิจหรือทีมคิดไม่ออกหรือมองไม่เห็นโอกาสบางจุดจากการที่เป็นคนใน จึงต้องการ “มุมมองภายนอก” อาศัยประสบการณ์และวิสัยทัศน์ของผู้เชี่ยวชาญช่วยชี้แนะนำ
นอกจากนี้ ที่ปรึกษายังมีบทบาทในการช่วยตัดสินใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นบุคคลที่สามที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กร ทำให้ยอมรับการตัดสินใจได้มากกว่า
เช่น การปรับโครงสร้างองค์กร การสั่งลดจำนวนผู้บริหาร การปรับลดงบประมาณของบางทีม ฯลฯ ที่อาจเกิดปัญหาเชิงการเมืองภายในองค์กรได้ง่ายกว่า หากไม่ใช้ที่ปรึกษาธุรกิจ
4. ต้องการปรับปรุงหรือพัฒนากระบวนการทำงาน
ที่ปรึกษาธุรกิจด้านต่างๆ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการช่วยธุรกิจมากมายในการวางระบบงานให้มีประสิทธิภาพและลดทั้งต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย
ที่ปรึกษาจึงอาจมีวิธีการทำงานใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมมาแนะนำ และช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ รวมถึงบทบาทของที่ปรึกษาบางเจ้า ยังทำหน้าที่ช่วยติดตามงานและควบคุมไทม์ไลน์ของงานให้ลุล่วงได้อย่างรวดเร็ว
กำลังมองหาที่ปรึกษาธุรกิจที่มีประสบการณ์?
หลังจากที่อ่านบทความมาถึงตรงนี้ คุณคงรู้แล้วว่า ที่ปรึกษาธุรกิจจะช่วยธุรกิจคุณได้อย่างไร
หากคุณกำลังมองหาที่ปรึกษาธุรกิจที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี การตลาด การจัดการองค์กรด้วยเทคโนโลยี 1StCraft เป็นผู้ให้บริการระบบบริหารจัดการองค์กร (ERP: Enterprise Resource Planning) ที่มีประสบการณ์
เราสามารถแนะนำซอฟต์แวร์ระบบต่างๆ ที่จะช่วยให้คุณบริหารธุรกิจได้แบบ Smart Company หรือ Smart Factory ได้ ช่วยบริหารจัดการได้ทั้งการเงิน บัญชี ทรัพยากรบุคคล การตลาดและการจัดการข้อมูล (Data Management) และระบบต่างๆ ให้คุณบริหารธุรกิจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดเวลา และต้นทุน
1stCraft สามารถให้คำแนะนำและปรับแต่งระบบให้เหมาะกับลักษณะงานของธุรกิจของคุณได้ ติดต่อสอบถามเพื่อพูดคุยถึงโซลูชั่นกับเราได้ ที่นี่ ไม่มีค่าใช้จ่าย