BOM ที่ย่อมาจาก Bill of Materials คือ หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการวางแผนการผลิตหรือดำเนินการระบบผลิต (Manufacturing System) เป็นเอกสารหรือฐานข้อมูลที่ระบุว่าในกระบวนการผลิตโปรดักต์หนึ่งๆ นั้น ว่าต้องใช้ชิ้นส่วน วัตถุดิบ วัสดุอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ พร้อมระบุรายละเอียดต่างๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการวางระบบการผลิต อีกทั้งยังใช้สำหรับตรวจสอบและควบคุมต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย
ในบทความนี้มาทำความรู้จักกับ BOM ให้มากขึ้น รวมประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ และธุรกิจแบบไหนเหมาะกับการใช้ Bill of Materials สำหรับการลดต้นทุนในกระบวนการผลิตบ้าง
BOM หรือ Bill of Materials คืออะไร
BOM (Bill of Materials) คือ รายการส่วนประกอบหรือสูตรการผลิต หรืออาจเรียกอีกอย่างได้ว่า “Product Structure” ที่ระบุองค์ประกอบ วัสดุ วัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนต่างๆ ที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิตโปรดักต์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ เครื่องยนต์ หรือว่าอาหาร
แผนผังข้างต้น คือตัวอย่างแผนผังสูตรการผลิตหรือ Bill of Materials ของการผลิตเก้าอี้ แสดงชิ้นส่วนต่างๆ ที่ประกอบกันมาเป็นเก้าอี้ตัวหนึ่ง แบ่งออกเป็นเลเวลต่างๆ
โดย Level 0 คือ ตัวโปรดักต์ที่เป็นผลลัพธ์สุดท้ายของการผลิต (End Product) ซึ่งประกอบมาจากชิ้นส่วนประกอบ (Parts / Assembly) ในแผนผัง Level 1 ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้ก็ประกอบมาจากวัสดุ (Materials / Sub-Assembly) ชิ้นเล็กๆ จาก Level 2 เช่นกัน ทั้งนี้ ความซับซ้อนของเลเวลในสูตรการผลิตก็จะแตกย่อยลดหลั่นกันไปตามลักษณะของโปรดักต์ที่ผลิต
Bill of Materials จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับขั้นตอนการวางแผนด้วย ซึ่งธุรกิจสามารถใช้ในการประเมินและรีวิวต้นทุนต่างๆ รวมทั้ง ตรวจทานความถูกต้องก่อนเริ่มผลิตจริง นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เพื่อติดตามกระบวนการผลิตอย่างเป็นลำดับได้จากลิสต์รายการ หรือแผนผังการผลิตอีกด้วย
ประโยชน์ของ BOM ที่จำเป็นต่อธุรกิจ
การเขียนรายการส่วนประกอบที่แตกลำดับหรือทำออกมาเป็นแผนผังได้ จะช่วยให้ธุรกิจหรือตัวโรงงาน ทั้งระดับควบคุมงาน และผู้ปฏิบัติการเข้าใจโครงสร้างของการผลิตอย่างแท้จริง ซึ่งช่วยให้เกิดประโยชน์หลักๆ ใน 2 เรื่อง ได้แก่
1. ควบคุมงบประมาณและให้ช่วยสร้างความโปร่งใส
BOM ไม่ใช่แค่คำสั่งให้เครื่องจักรทำงานตามที่เรากำหนด แต่ยังมีประโยชน์ในการสอบทานรายการสิ่งที่ต้องใช้และต้นทุนแยกออกมาเป็นรายการๆ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจรู้ที่มาที่ไปของค่าใช้จ่ายต่างๆ และแยกพิจารณาได้ว่า ราคาต้นทุนของวัสดุ/วัตถุดิบแต่ละรายการสมเหตุสมผลหรือไม่
นอกจากนี้ ความโปร่งใสของราคาต้นทุนที่มองเห็นได้เป็นรายการๆ (ไม่ใช่รวมยอดมาทีเดียว) สามารถช่วยให้ธุรกิจพิจารณาเลือกซัพพลายเออร์ (Supplier) ที่คุ้มทุนกว่าได้จากแต่ละเจ้าได้ –สามารถช่วยป้องกันการเกลี่ยกำไรต้นทุนของซัพพลายเออร์ที่ไม่เป็นธรรมได้
2. ควบคุมคุณภาพของชิ้นส่วน/วัตถุดิบต่างๆ และโปรดักต์สำเร็จ (End Product)
ลิสต์รายการชิ้นส่วนหรือวัสดุต่างๆ ที่ระบุรายละเอียดจำนวน/ปริมาณ ราคา รายละเอียดเฉพาะ (Specification) จะช่วยให้ธุรกิจสามารถรีวิวคุณภาพของสิ่งที่ใช้ได้
ซึ่งในระบบการผลิตจริง บางทีระดับเมเนเจอร์หรือระดับผู้ควบคุมงาน ไม่รู้ว่า BOM มีอะไรบ้าง โปรดักต์ที่ตั้งใจได้ผลิตตามที่วางแผนหรือไม่ BOM จะเป็นเอกสารที่ช่วยเมเนเจอร์สามารถใช้เพื่อรีวิวกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพได้
ประเภทของ Bill of Materials หรือรายการส่วนประกอบ
เราสามารถแยก BOM ออกได้เป็นหลายประเภท ตามวิธีที่เราใช้เพื่อขึ้น/สร้างโปรดักต์ขึ้นมา ซึ่งโดยทั่วไปในโรงงานผลิต มักจะใช้ BOM อยู่ 2 ประเภท ได้แก่
1. Engineering BOM หรือ EBOM
EBOM จะนิยามจากกระบวนการดีไซน์ตัวโปรดักต์สำเร็จจากชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งโดยมากมักจะถูกเขียนโดยวิศวกร โดยรายการของชิ้นส่วนจะประกอบไป
- ชื่อชิ้นส่วน
- ขนาดเชิงมิติ
- กว้าง
- สูง ลึก
- หน่วย ไซส์ต่างๆ รวมทั้ง รายละเอียดอื่นๆ
หากวาด Engineering BOM เป็นโครงสร้างการผลิต (Product Structure) ส่วน BOM Level 3 จะแสดง “ชิ้นส่วนต่างๆ ที่ประกอบเข้ากัน”
2. Manufacturing BOM หรือ MBOM
MBOM จะนิยามต่างมุมกับ EBOM ตรงที่ MBOM จะโฟกัสที่มุมของกระบวนการผลิต (Manufacturing Process) มากกว่าในมุมของดีไซน์ที่เป็นการรวมชิ้นส่วนต่างๆ เข้าได้กัน หรือเรียกง่ายๆ ว่าบอก “กรรมวิธี” ทั้งนี้ MBOM จะเกิดขึ้นและใช้งานได้ ก็ต้องใช้ข้อมูลจาก EBOM ด้วย
ตัวอย่าง Bill of Materials ที่ใช้ในระบบการผลิต (Manufacturing System)
BOM ที่ใช้กันในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบของไฟล์ตัวอักษรในฟอร์แมตตาราง เช่น Excel หรือ CSV แล้วแปรนำเข้าให้กับเครื่องจักร ซึ่งก็มีการนำเทคโนโลยีหรือโปรแกรมที่ช่วยเราจัดการสร้างฐานข้อมูลรายการส่วนประกอบที่จะสามารถใช้สั่งการผลิตได้จริงอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า รายการชิ้นส่วนประกอบต่างๆ จะจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบและมีรายละเอียดต่างๆ ประกอบอยู่ด้วย เช่น ชื่อรายการ (PArt Name), ID หรือ Part Number ของชิ้นส่วน, หน่วย, จำนวน, ราคาต่อหน่วย, รายละเอียดเฉพาะ (Specification) เป็นต้น
ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ จะช่วยให้สามารถรีวิวความถูกต้องและควบคุมงบประมาณได้อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น\
10 ส่วนประกอบของ BOM ที่ควรจะมี
เพื่อที่ธุรกิจจะเห็นภาพได้ชัด สามารถใช้ BOM ในการอ้างอิงและตรวจสอบความถูกต้องในการผลิตและการควบคุมงบประมาณ ในรายการส่วนประกอบ BOM จึงจำเป็นต้องมีรายละเอียดที่หลากหลาย
รายละเอียดของ BOM ที่ควรจะมี
- จำนวน (Quantity): จำนวนของวัสดุ ชิ้นส่วน หรือปริมาณของวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิตโปดักต์
- หน่วยวัด (Unit of Measurement): ลักษณะนามหรือหน่วยของวัสดุ ชิ้นส่วน หรือวัตถุดิบ เช่น ชิ้น, กรัม, กิโลกรัม, ลิตร เป็นต้น
- ลำดับชั้นของชิ้นส่วน (BOM Level): คือลำดับที่ชิ้นส่วนต่างๆ ประกอบเข้าด้วยกันเป็นพาร์ทที่ใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะประกอบกันเป็นโปรดักต์สำเร็จ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจว่า ชิ้นส่วนใดต้องมาประกอบกันก่อน-หลัง
- โน้ตหรือหมายเหตุ (BOM Note): สำหรับใช้เพิ่มเติมข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นต้องระบุมากกว่ารายละเอียดหลัก
- เลขชิ้นส่วนหรือ ID (Part Number): จำเป็นต้องมีเพื่อใช้อ้างอิงชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งจะมีประโยชน์มากๆ กับการผลิตโปรดักต์ที่มีความซับซ้อน ใช้ชิ้นส่วนปริมาณมาก
- ชื่อชิ้นส่วน (Part Name): ชื่อเรียกของชิ้นส่วนนั้นๆ ซึ่งเมื่อประกอบกับเลขชิ้นส่วนกำกับ ก็จะยิ่งช่วยระบุชิ้นส่วนให้แยกออกจากกันได้ชัดเจน
- วัตถุดิบตั้งต้น (Raw Materials): วัตถุดิบหรือสสารชั้นต้นก่อนที่จะถูกนำมาใช้ผลิตเป็นชิ้นส่วนต่างๆ เช่น เหล็ก ทราย พลาสติก เป็นต้น
- รายละเอียดวัสดุ (Description): คำอธิบายถึงชิ้นส่วนหรือวัสดุต่างๆ ในรายการ ซึ่งจะอธิบายชื่อชิ้นส่วนเพิ่มเติมว่าหมายถึงอะไร
- ราคา (Price): ระบุราคาของชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งช่วยในการคำนวณต้นทุนหรือควบคุมงบประมาณได้
- กระบวนการจัดซื้อจัดหา (Method of Procurement): รายละเอียดที่ระบุว่าชิ้นส่วนนั้นๆ ได้มาได้อย่างไร จัดซื้อมาจากข้างนอกหรือผลิตเองภายใน โดยรายละเอียดส่วนนี้ สามารถใช้ดูได้ว่าชิ้นส่วนต่างๆ มาจากซัพพลายเออร์เจ้าใด
รายละเอียดทั้ง 10 ข้อ คือ รายละเอียดพื้นฐานของการเขียนรายการส่วนประกอบ หรือสูตรการผลิต (Bill of Materials) ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของโปรดักต์และความจำเป็นของโรงงาน/ธุรกิจว่า จะระบุรายละเอียดใดบ้าง หรือจะเพิ่มรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น รูปภาพ ขนาด ค่าแรง ระยะเวลาที่ใช้ รายละเอียดในการผลิต เป็นต้น
ธุรกิจหรือโรงงานแบบไหนต้องใช้ BOM
ธุรกิจหรือโรงงานไหนควรต้องเขียน BOM บ้าง? คำตอบที่ดีที่สุดก็ต้องย้อนกลับไปที่ประโยชน์และความสำคัญของ Bill of Materials หากธุรกิจทำแล้วได้ประโยชน์ ช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความรอบคอบได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าจะทำอย่างเป็นระบบ
เมื่อพิจารณาด้วยคุณประโยชน์แล้ว จะเห็นว่า จริงๆ แล้วโรงงานขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีระบบสำหรับโรงงานกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ซับซ้อน จักรยาน เฟอร์นิเจอร์ หรือจะเป็นอาหาร ก็ตาม
แน่นอนว่า การจะทำสิ่งเหล่านั้นได้ ต้องมี “สูตร” มีการกำหนดส่วนประกอบ วัสดุ หรือวัตถุดิบที่ต้องใช้ หากเพียงแต่ธุรกิจนำสิ่งเหล่านั้นออกมาเขียนในรูปแบบของ BOM ลงรายละเอียดต่างๆ ที่จำเป็นในการรีวิวโครงสร้างโปรดักต์ โครงสร้างต้นทุน การสอบกระบวนการเพื่อรักษาคุณภาพ อย่างไรก็เป็นประโยชน์กับตัวธุรกิจ
Bill of Materials ช่วยลดต้นทุนได้อย่างไร: สรุปเหตุผลทำไมธุรกิจ/โรงงานควรเขียน BOM
- BOM ช่วยให้ธุรกิจมองเห็นภาพโปรดักต์ เข้าใจโปรดักต์มากขึ้น มาประกอบขึ้นมาได้อย่างไร
- รายการส่วนประกอบหรือโครงสร้างโปรดักต์จะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจโครงสร้างต้นทุน รู้ว่าแต่ละชิ้นส่วนมีต้นทุนเท่าไร ซึ่งจะช่วยให้สามารถรีวิวและปรับเพื่อควบคุมต้นทุนของโปรดักต์ได้
- เมื่อทราบถึงต้นทุนของชิ้นส่วนต่างๆ ธุรกิจก็มีข้อมูลเพื่อพิจารณาว่าจะผลิตชิ้นส่วน (Assembly) ขึ้นเองหรือสั่งทำกับเวนเดอร์ (Vender) ภายนอก
- รายการชิ้นส่วนอุปกรณ์จะช่วยให้มองเห็นภาพรวมและแยกชิ้นส่วน วัตถุดิบที่อาจไม่จำเป็นต้องใช้หรือมีวัสดุอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่าทดแทนได้
- ภาพรวมและโครงสร้างค่าใช้จ่ายจาก BOM ช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าควรผลิต หรือซื้อชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ (มีข้อมูลให้คำนวณต้นทุน)
- การเขียน Bill of Materials ช่วยลดความผิดพลาด รักษามาตรฐานของการผลิตผ่านการสอบกระบวนการผลิต
- เมื่อมีการยกเครื่องชิ้นส่วนในสายการผลิต ก็จะแน่ใจได้ว่า ไม่ลืมชิ้นส่วนอื่นใดที่ตกหล่น โดยการใช้ BOM เป็นเช็คลิสต์
- เมื่อระบบการผลิตเกิดปัญหา ก็สามารถไล่ตรวจสอบตามกระบวนการและเลเวลของรายการส่วนประกอบได้
สรุปท้ายบทความ
BOM ไม่ใช่แค่การทำเอกสารหรือชุดข้อมูลรายการวัสดุ/วัตถุดิบตามกระบวนการที่ควรจะทำเท่านั้น หากธุรกิจเข้าใจความสำคัญและประโยชน์ของการเขียน Bill of Materials รวมไปถึงว่า อ่านและสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการผลิตของธุรกิจก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในมุมของต้นทุนที่สามารถทำให้ถูกลงได้ มุมของการรักษาคุณภาพโปรดักต์ และการตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ระบบ Bill of materials นั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ERP ส่วนใหญ่แล้วการใช้ระบบ BOM ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจำเป็นต้องมีระบบอื่นๆ คอยรองรับ
หากคุณกำลังมองหาระบบ BOM สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างเราได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ 🙂