“Big Data” หรือ “ข้อมูลมหัต” ที่เรียกกันในภาษาไทย เป็นการนำข้อมูลจำนวนมากจากหลากหลายแหล่งมาประมวลผล วิเคราะห์ เพื่อให้ได้ความรู้หรือข้อสรุปบางอย่างมาใช้ประโยชน์
ซึ่ง Big Data ไม่เพียงแต่ใช้ในองค์กรหรือบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ทุกวันนี้ บริษัทหรือองค์กรไม่ว่าจะเป็น ขนาดเล็กหรือขนาดกลางเองก็ใช้ Big Data เช่นกัน เพราะสามารถช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น
ในยุคข้อมูลข่าวสารและดิจิทัล (Information & Digital Age) ไม่ว่าบริษัทหรือองค์กรของคุณจะมีขนาดเท่าไร เรื่อง Big Data ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น การใช้ Big Data ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ในบทความนี้ จะช่วยแนะนำวิธีนำ Big Data ไปใช้ในองค์กรแบบเข้าใจง่าย ทำตามได้จริง
ทำไมจึงไม่ควรมองข้ามการใช้ Big Data ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ/องค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ การใช้ข้อมูลก็สามารถช่วยสร้างความได้เปรียบต่างๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ Big Data ที่รวมเอาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประมวลผลและวิเคราะห์ร่วมกัน ก็จะช่วยให้องค์กรหรือธุรกิจนั้นๆ มีข้อมูลเชิงลึก (insight) ประกอบการวางแผนหรือตัดสินใจ
การใช้ Big Data ในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดเฉพาะอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและการตลาดดิจิทัลเท่านั้น แต่การยังกระจายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
- อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจอาหาร
- โรงพยาบาลและการให้บริการทางการแพทย์ (Healthcare)
- โรงงานอุตสาหกรรมและสายพานการผลิต
- Human Resource หรือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์
- ธุรกิจและการตลาด
- การเงินและการธนาคาร
- การขนส่งและโลจิสติก (Logistic)
- เกษตรกรรม
- อุตสาหกรรมการบริการ เช่น โรงแรม สปา
- ฯลฯ
Big Data จะช่วยให้เข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรมของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนมีข้อมูลและข้อมูงเชิงลึกจากตลาด เข้าใจลูกค้าและสถานการณ์ได้ดีขึ้น ช่วยให้สามารถนำมาปรับปรุงการดำเนินงาน นำมาสร้างแผนเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายและโอกาส รวมถึงช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตรงจุด
นอกจากนี้ Big Data ยังช่วยผนึกรวมข้อมูล (integrate) ในโลกออฟไลน์และบนโลกออนไลน์เข้าด้วยกัน ช่วยให้ธุรกิจอำนวยความสะดวกและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า/ผู้รับบริการได้ทั้งสองทาง
ตัวอย่างการใช้ Big Data ในธุรกิจและองค์กรด้านต่างๆ
เพื่อให้เข้าใจประโยชน์และการใช้งาน Big Data มากยิ่งขึ้น ต่อไปนี้คือตัวอย่างการใช้ประโยชน์จาก Big Data ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยสังเขป
1. การขายและการตลาด
ในแง่มุมของธุรกิจและการตลาด โดยเฉพาะการทำ Digital Marketing จะใช้ Big Data เพื่อทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า หรือ “Customer Insight” ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะส่งมอบสินค้าหรือบริการและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น
- Ebay เว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ระดับโลก ปรับ Homepage ให้เป็นหน้าฟีดข่าวสาร (news feed) เหมือนกับโซเชียลมีเดียเพื่อนำเสนอสิ่งที่ผู้ใช้งานน่าจะสนใจ
จากการติดตามพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ เข้าหมวดสินค้าใดของผู้ใช้งานแต่ละรายจนได้ “Insight” เข้าดูสินค้าอะไร และกดใส่ตะกร้าอะไร เป็นต้น รวมไปถึงการยิงโฆษณาสินค้าที่ผู้ใช้งานน่าจะสนใจ เราจะเห็นตัวอย่างแบบนี้ได้ในแอปฯ ซื้อของออนไลน์อย่าง Shopee และ Lazada เช่นเดียวกัน
- Starbucks มีแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ติดตามและทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละราย รวมไปถึงเข้าใจภาพรวมของลูกค้า รู้ว่าลูกค้ามีพฤติกรรมอย่างไร ชอบอะไร ทั้งในระดับบุคคลและภาพ
รวมลูกค้า Starbucks สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการมอบโปรโมชันและยิงโฆษณาแบบ Personalization ตลอดจนปรับแผนการตลาดในภาพรวม และการออกเมนูใหม่ๆ ที่ตอบสนองความชอบของกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงใจ
- เว็บไซต์ธุรกิจ ธุรกิจที่มีเว็บไซต์สามารถเชื่อมต่อเว็บไซต์เข้ากับระบบ CRM รวมไปถึงระบบช่วยขายอื่นๆ เพื่อเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ทั้งพฤติกรรมการเข้าใช้เว็บไซต์ เลือกดูสินค้าอะไร เข้าถึงเว็บไซต์จากช่องทางไหน แนวโน้วในการตัดสินใจซื้อ ฯลฯ สามารถตั้งระบบทำการตลาดแบบอัตโนมัติ (Marketing Automation) และเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ในจังหวะที่เหมาะสม
2. สุขภาพและการแพทย์ (Healthcare)
ในด้านสุขภาพและการแพทย์มักจะใช้ Big Data ในการจัดการกับข้อมูลปริมาณมหาศาลของผู้ป่วย ช่วยให้โรงพยาบาลหรือสถานประกอบการทางการแพทย์มีข้อมูล ประวัติการรักษา/การใช้ยา ประวัติการแพ้ยาและโรคที่เคยเป็น ฯลฯ ผ่านการใช้เทคโนโลยีจัดการข้อมูลต่างๆ
เช่น ระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EHRs) ระบบคลินิก (Clinic System) ระบบจัดการข้อมูลห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (LIS) เป็นต้น โดยการใช้ Big Data ในการให้บริการทางการแพทย์ถูกนำมาช่วยจัดการงานต่างๆ เช่น
- ช่วยวินิจฉัยอาการ โรค และวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางรักษา
- ลดภาระในการซักประวัติและการติดตามข้อมูลสุขภาพ
- ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพจากข้อมูลที่เพียบพร้อม และถูกจัดการอย่างเป็นระบบพร้อมใช้งาน
- ช่วยจัดการระบบงานคลัง (Inventory System) ของโรงพยาบาล รวมไปถึง การเงินและการบัญชี จากการที่ระบบต่างๆ เชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลกัน
3. โรงงานและอุตสาหกรรม
ในโรงงานและอุตสาหกรรมจะใช้ Big Data ในการจัดการสินค้าคงคลัง ทรัพยากร/วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ การขนส่ง ตลอดจนการเงินและบัญชี ผ่านระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) เทคโนโลยีที่ช่วยจัดการข้อมูลและเชื่อมต่อข้อมูลจากฝ่ายงานต่างๆ และช่วยให้โรงงานหรือองค์กรบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ
ยกตัวอย่างการใช้ Big Data ในโรงงานและสายการผลิต
- ช่วยพัฒนาระบบการผลิต จาก Big Data เช่น การนำเข้าวัตถุดิบ ระยะเวลาที่ใช้ในการผลิต คุณภาพหรือมาตรฐานของวัตถุดิบ ฯลฯ ใช้วิเคราะห์หาจุดที่ควรปรับปรุงหรือพัฒนาได้ ตลอดจนมีข้อมูลเพียงพอสำหรับหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น
- ช่วยให้จัดการธุรกิจได้แบบองค์รวม โดยสามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น งานคลัง การตลาด ง่ายขาย ง่ายจัดหาจัดซื้อ ฯลฯ หากมีออเดอร์เข้ามามาก ระบบจะรู้ทันทีว่า มีวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพียงพอหรือไม่ สายผลิตต้องการอะไรเพิ่ม ระบบสามารถแจ้งล่วงหน้าได้ทันที เป็นต้น
- ช่วยสนับสนุนระบบขนส่ง ผ่านการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี GPS ช่วยวางแผนการขนส่งเพื่อลดระยะเวลา จัดส่งได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดรอหรือ Lead time ทั้งหมดของลูกค้าลงได้
เครื่องมือหรือเทคโนโลยีจัดการข้อมูลมหัต (Big Data Tools)
ด้วยลักษณะสำคัญของ Big Data ประกอบไปด้วยปริมาณ (volume) ที่มหาศาล และมีความหลากหลาย (variety) ทำให้จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีศักยภาพเพียงพอเข้ามาจัดการข้อมูล
โดยเครื่องมือจัดการกับ Big Data ก็หมายถึง เทคโนโลยีหรือระบบที่สามารถติดตามหรือเก็บข้อมูลจากแหล่งที่มาหลายแหล่ง จัดการข้อมูล และช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้ได้ มีทั้งเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับองค์กรหรือธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
ยกตัวอย่างเครื่องมือที่ช่วยจัดการกับ Big Data
- Kissmetric คือ เครื่องมือวิเคราะห์โปรดักต์และการตลาด จัดการกับข้อมูลด้านการตลาดและข้อมูลลูกค้า ช่วยเชื่อมต่อข้อมูลจากซอฟต์แวร์การตลาดต่างๆ รวมถึงเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ช่วยให้ธุรกิจมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้าและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของธุรกิจ
- Microsoft Power BI ซอฟต์แวร์ที่ช่วยเชื่อมต่อข้อมูลจากซอฟต์แวร์และระบบต่างๆ บนโลกดิจิทัล แล้วนำมาประมวลผล ทำ Data Visualization เป็น Dashboard ที่ธุรกิจสามารถเลือกปรับเพื่อดูข้อมูลด้านต่างๆ ที่ต้องการได้ เช่น ยอดขาย กำไร ต้นทุน จำนวนลูกค้า อัตราการเติบโตของธุรกิจ ฯลฯ
- ระบบโรงพยาบาลต่างๆ EHR, HIS, HMS ที่ทำงานร่วมกัน ช่วยให้โรงพยาบาลและสถานให้บริการทางการแพทย์เข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วย/ผู้รับบริการ ช่วยให้สามารถบริการได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยจัดการงานบริหาร (Operation) การคลัง การเงินและบัญชี ผ่านการแบ่งปันข้อมูลของระบบต่างๆ เป็นต้น
- ERPs หรือระบบบริหารจัดการทรัพยากร ระบบที่ทำหน้าที่เป็นทั้งระบบการเงิน ระบบบริหารทรัพยากรบุคคล ระบบจัดซื้อจัดจ้าง ระบบบริหารงานและการผลิต ฯลฯ จัดการกับข้อมูลทั้งหมดขององค์กร เป็นระบบที่สามารถปรับแต่งให้เหมาะกับองค์กรแต่ละองค์กรได้ ช่วยให้องค์กรมี Big Data และข้อมูลเชิงลึก (Insight) ที่สร้างความได้เปรียบในแง่มุมต่างๆ ได้
- CDP: Customer Data Platform แพลตฟอร์มข้อมูลลูกค้า ซึ่งเป็นอีกระบบที่แตกต่างจาก CRM เพราะจะดึงข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าทั้งจากข้อมูลภายใน (first party) และข้อมูลจากบุคคลที่สาม (third party) แล้วนำมาประมวลผล สร้างเป็นหน้าต่างข้อมูลลูกค้าแต่ละราย ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้าและตลาดได้ดียิ่งขึ้น
หากลองศึกษาเทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่มเติม จะพบว่า เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้มีไว้สำหรับองค์กรหรือธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ สามารถปรับแต่งและใช้งานในองค์กรหรือธุรกิจระบบเล็ก-กลางได้เช่นกัน ช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้นในยุคดิจิทัลนี้
แนะนำ 5 วิธีประยุกต์ใช้ Big Data กับธุรกิจและองค์กร
Big Data มีประโยชน์มากมายและมีตัวอย่างองค์กรที่ปรับใช้ Big Data เพื่อทำการตลาดและดำเนินธุรกิจมากมาย หากธุรกิจหรือองค์กรของคุณต้องการใช้บ้าง ต่อไปนี้ เป็นคำแนะนำที่จะช่วยให้คุณเห็นแนวทางในการเอาไปปรับใช้ได้ชัดเจนขึ้น
1. กำหนดเป้าหมายและตั้งโจทย์ในการใช้ Big Data
เริ่มแรกก่อนที่จะวางแผนเก็บข้อมูลหรือตัดสินใจซื้อซอฟต์แวร์จัดการข้อมูลมาใช้ บริษัทหรือองค์กรควรถามตัวเองก่อนว่า จะใช้ข้อมูลเพื่ออะไร จากนั้นทำความเข้าใจโจทย์ว่าธุรกิจต้องการรู้อะไร โดยอาจตั้งต้นด้วยเป้าหมายทางธุรกิจหรือเป้าหมายทางการตลาด
เช่น ต้องการลดระยะเวลาดำเนินงาน ลดระยะเวลาขนส่ง ต้องการเพิ่มยอดขาย ต้องการบุกตลาดใหม่ เป็นต้น
เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนและได้โจทย์แล้ว จากนั้นจึงขยับไปขั้นตอนต่อไป
2. ทำความเข้าใจข้อมูลและเลือกวิธีวิเคราะห์ข้อมูล
ขั้นตอนนี้ ให้ทำความเข้าใจว่าเราต้องการข้อมูลอะไร และจะใช้วิธีใดในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบโจทย์รวมถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในขั้นตอนแรก โดยธุรกิจหรือองค์กรของคุณอาจเริ่มต้นด้วย 3 คำถามง่ายๆ ได้แก่
- ต้องการข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อที่จะตอบคำถามหรือโจทย์ที่ตั้งไว้
- ต้องการข้อมูลจากแหล่งใดบ้างและเป็นข้อมูลประเภทไหน เพื่อจะได้รู้ว่าต้องนำเข้าข้อมูลจากแหล่งใดบ้าง หรือซอฟต์แวร์ที่จะใช้จัดการกับข้อมูลจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับเครื่องมือใดได้บ้าง
- ต้องการใช้วิธีอะไรจึงจะได้คำตอบ ต้องการการวิเคราะห์แบบใด คำนวณแบบไหน เพื่อให้ได้คำตอบ รวมไปถึงรูปแบบคำตอบที่อยากได้ เช่น เป็นกราฟ เป็นหน้าต่างรายงานผล (Report Dashboard) เป็นต้น
3. เลือกเทคโนโลยีจัดการ Big Data ที่เหมาะสม
เมื่อเข้าใจโจทย์และรู้แล้วว่าต้องการข้อมูลอะไรบ้างเพื่อที่จะตอบเป้าหมายของเราได้ ต่อมาคือการเลือกใช้เทคโนโลยีมาใช้งานให้ตอบกับโจทย์ของเรา แต่ก่อนอื่นต้องแน่ใจว่า เครื่องมือที่จะนำมาใช้นั้น สามารถดึงและจัดการกับข้อมูลที่เราต้องการได้ และสามารถวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามที่เราต้องการได้ด้วย
ปัจจุบันรูปแบบของการเลือกซื้อเครื่องมือ ส่วนใหญ่จะมี “ช่วงทดลอง” (free trial) ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีที่จะได้ลองใช้เครื่องมือก่อนว่าตอบโจทย์และเป้าหมายของเราจริงๆ หรือไม่ นอกจากนี้ ยังได้ทดสอบความสะดวกสบายในการใช้งาน เพราะหากเครื่องมือมีความซับซ้อน ต่อให้มีฟีเจอร์มากมาย ผู้ใช้งานก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเครื่องมือได้เต็มที่
เครื่องมือที่เลือกใช้ ควรจะสามารถปรับแต่ง (customize) ได้บางส่วนเพื่อให้เหมาะกับองค์กรแต่ละองค์กร มีการอบรมสอนการใช้งาน และบริการให้ความช่วยเหลือหลังการขายก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ในปัจจุบันควรมองหาซอฟต์แวร์ที่จัดเก็บข้อมูลบน Cloud system เพราะสะดวกต่อการดึงและเชื่อมต่อข้อมูลมากกว่า
4. เตรียมพร้อมทักษะการจัดการข้อมูลในองค์กร
เทคโนโลยียังต้องการ ‘มนุษย์’ ในการควบคุมและกำหนดเป้าหมาย เมื่อต้องการใช้ Big Data ในองค์กร “คน” คือ อีกหัวใจของการทำงาน องค์กรจะต้องมีแผนในการเทรนทักษะให้แก่พนักงานที่รับผิดชอบ มอบหมายหน้าที่ว่าใครทำอะไร
ซึ่งเรื่องการอบรมอาจจะเป็นการอบรมกันภายในหรือเป็นบริการจากผู้ในบริการซอฟต์แวร์ ทั้งนี้ บางเรื่องอาจกระจายงานให้ Outsource หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญช่วยดูแลได้ เช่น จ้างบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น
5. การดำเนินงานและการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
แน่นอนว่า การนำ Big Data มาใช้ (implement) ทันที เป็นเรื่องใหม่ ทั้งองค์กรจำเป็นต้องทำความเข้าใจและดำเนินงานไปพร้อมกัน มาจะนำ Big Data มาใช้จึงควรมีการกระจายความรับผิดชอบ มีแผนจัดการกับข้อมูล และการอบรมทักษะและการดำเนินงาน ในระหว่างเปลี่ยนถ่ายข้อมูลจะดำเนินการอื่นๆ อย่างไร เป็นต้น
Big Data กับการใช้งานจริงในธุรกิจและองค์กร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Big Data จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการจัดการกับข้อมูล ที่ 1st Craft เราให้บริการระบบ ERP และระบบอื่นๆ ที่ช่วยจัดการกับข้อมูลปริมาณมหาศาลที่สามารถปรับแต่งระบบให้เหมาะกับการใช้งานของแต่ละองค์กรได้
หากคุณต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเก็บข้อมูล ต้องการคำแนะนำสำหรับเริ่มต้นทำ Big Data ในองค์กร หรืออยากหาระบบสำหรับองค์กร ที่จะช่วยให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรึกษาเราได้ฟรีที่นี่