Cover บทความ FIFO, LIFO, Moving Average คืออะไร?

FIFO, LIFO, Moving Average คืออะไร? แตกต่างกันอย่างไร?

mins read   1stCraft Team

ในการซื้อสินค้ามาและขายไป แต่ละครั้งเราจะพบว่าล็อตของสินค้าที่สั่งมาขาย มีราคาไม่เท่ากัน แล้วทีนี้เราจะตั้งราคาสินค้าคงคลังยังไงดี ให้สามารถขายได้ในราคาเท่ากันและยังคงได้กำไร

บทความนี้ เราจะมาดูรูปแบบการตั้งราคาขายสินค้าคงคลัง 3 รูปแบบ FIFO, LIFO, Moving Average ว่าแต่ละแบบคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร? ใช้การคำนวณแบบไหน? พร้อมตัวอย่างแบบครบจบ ให้คุณนำไปต่อยอดใช้งานได้เลย

FIFO, LIFO, Moving Average คืออะไร? มีวิธีคำนวณยังไง?

ขอบคุณ Tony Bell Channels

FIFO, LIFO, Moving Average คือ รูปแบบของการตั้งราคาขายสินค้าให้ได้กำไร โดยเฉพาะธุรกิจที่ซื้อมาขายไป จะมีการสั่งซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน แต่สั่งมาหลายล็อต แล้วแต่ละล็อตก็ราคาทุนมาไม่เท่ากัน

ทำให้ต้องมีวิธีการตั้งราคาสินค้าให้เหมาะสม โดยที่ยังขายได้กำไรทุกชิ้น และจะมีวิธีการคิดหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับเทคนิคที่แต่ละธุรกิจเลือกใช้

FIFO (First In First Out)

เป็นวิธีการคิดต้นทุนสินค้าแบบเข้าก่อนออกก่อน หากทำความเข้าใจให้ง่ายๆ ก็คือ ล็อตหรือสินค้าไหนเข้ามาก่อน ก็จะขายออกไปก่อน ส่วนล็อตที่เข้ามาทีหลังก็จะถูกขายไปตามลำดับ 

วิธีการคิดต้นทุนจึงเป็นการคิดต้นทุนไปตามสินค้าในแต่ละล็อตเลย 

ตัวอย่างการตั้งราคา

ธุรกิจขายของฝาก รับสินค้า A มาขายทั้งหมด 3 ล็อต

  • ล็อตแรก จำนวน 50 ชิ้น 1,000 บาท (ต้นทุนชิ้นละ 20 บาท)
  • ล็อตสอง จำนวน 30 ชิ้น 750 บาท (ต้นทุนชิ้นละ 27 บาท)
  • ล็อตสาม จำนวน 40 ชิ้น 1,000 (ต้นทุนชิ้นละ 25 บาท)

สต็อกในคลังสินค้าจึงมีทั้งหมด 120 ชิ้น ทุน 2,750 บาท และนำมาขายต่อในราคาตัวละ 35 บาท

ในการคำนวณจะคิดทีละล็อต ตามลำดับล็อตที่รับเข้ามา

  • ล็อตแรก 35-20 = 15 บาท เป็นกำไรต่อชิ้นที่ได้
  • ล็อตสอง 35-27 = 8 บาท เป็นกำไรต่อชิ้นที่ได้
  • ล็อตสาม 35-25 = 10 บาท เป็นกำไรต่อชิ้นที่ได้

หลังจากนี้ หากมีการสั่งล็อตถัดไป ก็จะคำนวณตามลำดับไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นการต่อคิวเพื่อขายออกไป 

LIFO (Last-In, First-Out)

เป็นวิธีการคิดต้นทุนสินค้าแบบเข้าหลังออกก่อน หรือสินค้าที่รับมาล่าสุด จะต้องมีการขายออกไปก่อน การคำนวณต้นทุนจึงยึดจากราคาล่าสุดของสินค้าเป็นหลัก

ตัวอย่างการตั้งราคา

ธุรกิจเริ่มต้นรับสินค้า A มาขาย จำนวน 10 ชิ้น มีราคาทุนต่อชิ้นที่ 500 บาท และตั้งราคาขายอยู่ที่ชิ้นละ 700 บาท

จากนั้นขายสินค้าออกไป 3 ชิ้นแรก จะได้กำไรต่อชิ้นที่ 700-500 = 200 บาท

สั่งสินค้าใหม่เข้ามา

เมื่อมีการสั่งสินค้า A เข้ามาเพิ่มอีก 5 ชิ้น แต่มีราคาทุนที่มากขึ้นอยู่ที่ 550 บาทต่อชิ้น

ทำให้ในตอนนี้ธุรกิจเหลือสินค้าคงคลัง 12 ชิ้น การคำนวณราคาจึงจะใช้ การคำนวณจากต้นทุนใหม่จนครบตามจำนวนของสินค้าใหม่ที่รับเข้ามาก่อน 

โดย 5 ชิ้นใหม่ จะได้กำไรต่อชิ้นที่ 700-550 = 150 บาท

แล้วจึงขายชิ้นที่เหลือตามสต็อกแรกอีก 7 ชิ้น ในด้วยการคำนวณต้นทุนเดิม จะได้กำไรต่อชิ้นที่ 700-500 = 200 บาท

วิธีการคำนวณนี้จะคล้ายกับการคำนวณของ FIFO แต่ต่างกันที่จะคำนวณตามล็อตสินค้าใหม่จนครบก่อน แล้วจึงกลับไปคำนวณตามล็อตสินค้าเก่า 

Moving Average

เป็นวิธีการคิดต้นทุนสินค้าแบบถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าใหม่มาแต่ละล็อต ก็จะทำการคิดต้นทุนใหม่ก่อนทุกครั้ง 

ตัวอย่างการตั้งราคา 

ธุรกิจสั่งสินค้า B มาขาย 2 ล็อต แบ่งออกเป็น

  • ล็อตแรก จำนวน 50 ชิ้น 10,000 บาท (ต้นทุนชิ้นละ 200 บาท)
  • ล็อตสอง จำนวน 30 ชิ้น 7,500 บาท (ต้นทุนชิ้นละ 250 บาท)

สต็อกในคลังสินค้าจึงมีทั้งหมด 80 ชิ้น ทุน 17,500 บาท และนำมาขายต่อในราคาชิ้นละ 350 บาท

ในการหาค่าเฉลี่ยต้นทุน จะใช้ ราคาทุน/จำนวนสินค้า = 17,500/80 = 218.75 บาทต่อชิ้น

หากมีการขายจะได้กำไรชิ้นละ 131.25 บาท

สั่งเพิ่มล็อตถัดไป

หากในรอบนี้ขายจนเหลือ 20 ชิ้น และต้องสั่งสินค้าล็อตที่ 3 เข้ามาเพิ่มอีก 25 ชิ้น ในราคาทุน 6,750 บาท (ตกชิ้นละ 270 บาท)

ถ้าใช้วิธี Moving Average ในการตั้งราคา จะต้องคำนวณราคาทุนเฉลี่ยใหม่ จะใช้ 

[(สินค้าที่เหลือในล็อตก่อนหน้า x ราคาทุนเฉลี่ยล็อตก่อนหน้า) + ทุนล็อตใหม่] / (จำนวนสินค้าที่เหลือ + จำนวนสินค้าล็อตใหม่)

[(20 x 218.75) + 6,750] / (20+25) = 247.22 บาท ต่อชิ้น

ถ้าขายในราคาตัวละ 350 บาท ในล็อตนี้ กำไรจะเป็นตัวละ 102.77 บาทต่อชิ้น

ความแตกต่างของ FIFO, LIFO, Moving Average

สำหรับการตั้งราคาขายแต่ละรูปแบบ จะมีความเหมาะสมของการคำนวณกับสินค้าแต่ละประเภทอยู่ เพื่อให้การตั้งราคาสามารถทำกำไรได้ แบ่งเป็น 

  • FIFO (First In First Out) เป็นการตั้งราคาที่เหมาะกับสต๊อกสินค้าที่มีวันหมดอายุกำกับไว้ ทำให้สามารถจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีการขายตามลำดับของสินค้าที่จะหมดอายุก่อน 
  • LIFO (Last-In, First-Out) เป็นการตั้งราคาที่เหมาะกับสต๊อกสินค้าที่ตกเทรนด์เร็ว มีรุ่นใหม่ออกมาบ่อย ที่ชัดเจนที่สุดจะเป็นสินค้าในหมวดไอทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี เครื่องเล่นเกม คอมพิวเตอร์ 

    ทำให้ต้องดันสินค้ารุ่นใหม่ๆ ให้ขายได้ก่อน การลำดับการขายสินค้าจึงเป็นการขายสินค้าที่ใหม่ที่สุดก่อน ถ้าเกิดว่าทิ้งไว้นานไปจะทำให้เกิดการขาดทุนได้ เพราะสินค้ามีการตกรุ่นแล้ว

    สำหรับการตั้งราคาในแบบ LIFO จะค่อนข้างมีข้อจำกัด เพราะจะทำให้สินค้าคงคลังเก่าที่ตกรุ่นขายออกไปได้ยาก และไม่เป็นสากลทำให้การค้าระหว่างประเทศในบางประเทศมีข้อห้าม รวมถึงทำการบริหารสินค้าคงคลังทำได้ยากขึ้นด้วย
  • Moving Average เป็นการตั้งราคาที่เหมาะกับสต๊อกที่ซื้อมาเพื่อเป็นวัตถุดิบของการผลิต จะช่วยให้สามารถคำนวณต้นทุนของสินค้าที่นำมาผลิตได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น และยังทำให้เห็นผลประกอบการที่ชัดเจน เพราะมีการคำนวณต้นทุนใหม่ทุกครั้ง

    นอกจากนี้ในสินค้าบางประเภทที่สามารถเก็บไว้ขายได้นาน ก็สามารถใช้วิธีนี้ได้ แต่ต้องไม่เป็นสินค้าที่มีราคาสูงหรือมีความเฉพาะเจาะจงมากเกินไป

ยกระดับการตั้งราคาสินค้าและติดตามสินค้าคงคลัง

วิธีการหาต้นทุนเฉลี่ยที่เราได้รู้จักกันไปแล้วกับ FIFO, LIFO, Moving Average จะช่วยให้สามารถตั้งราคาขายสินค้าให้ทำกำไรได้ตลอด แม้ว่าต้นทุนในการสั่งสินค้าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละล็อต และยังช่วยให้การจัดการสินค้าคงคลังไม่มีสะดุด

แต่รูปแบบของการคำนวณนี้ จะเหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กมากกว่า เพราะถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว จะมีสินค้าที่ต้องจัดการเป็นจำนวนมาก การเลือกใช้ซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยจัดการ จะช่วยให้การจัดการสินค้าคงคลังง่ายและมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น