ในการเข้ารับการรักษาหรือเข้ารับบริการทางการแพทย์ ขั้นตอนแรกที่ผู้ป่วยจะได้เจอ คือ การซักประวัติ เพื่อที่แพทย์หรือผู้ให้บริการการรักษาจะสามารถประเมิน ตัดสินใจเลือกวิธีการ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการรักษาได้อย่างแม่นยำ
หากเป็นเมื่อก่อน โรงพยาบาลจะต้องทำประวัติผู้ป่วย บันทึกข้อมูลทั้งข้อมูลทั่วไป ข้อมูลด้านสุขภาพ และประวัติการรักษาในรูปแบบเอกสารซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องการจัดเก็บ การดึงข้อมูลมาใช้ที่ไม่สามารถทำได้ทันที และปัญหาข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบันหรือข้อมูลคลาดเคลื่อน แต่ในปัจจุบัน ระบบการทำประวัติผู้ป่วยหรือ “เวชระเบียนผู้ป่วย” ได้พัฒนามาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลซึ่งแก้ไขข้อจำกัดข้างต้นได้แล้ว
ในบทความนี้ เราจะมาโฟกัสกันที่ ระบบ EHR: Electronic Health Records หรือ “ระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์” ที่ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยแบบองค์รวม ช่วยลดขั้นตอนการซักประวัติ พร้อมให้ข้อมูลด้านสุขภาพแก่แพทย์ได้อย่างครอบคลุม
ระบบ EHR คืออะไร
ระบบ EHR หรือ Electronic Health Records คือ ระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์หรือบันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยในรูปแบบดิจิทัล ระบบ EHR จะเก็บข้อมูลทั้งประวัติส่วนตัว ข้อมูลการติดต่อ ประวัติการรักษา โรคประจำตัว ข้อมูลด้านสุขภาพทั้งหมด ซึ่งสามารถอัปเดตให้เป็นปัจจุบันได้ตลอด
โดยระบบ EHR ช่วยลดขั้นตอนในการซักประวัติ เพราะแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันที และมั่นใจได้ว่าข้อมูลเป็นปัจจุบันที่สุด ทำให้การตัดสินใจ และการวินิจฉัยสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและเแม่นยำ
ระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์หรือ EHR System จะเก็บข้อมูลแบบองค์รวม ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว จะประกอบไปด้วยข้อมูลเหล่านี้
- รายการ/ประวัติการรักษาที่เคยได้รับ
- ประวัติการผ่าตัด
- ยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตามใบสั่งแพทย์
- สัญญาณชีพล่าสุด (vital signs) ได้แก่ ค่าความดันโลหิต อุณหภูมิ ชีพจร และการหายใจ
- ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ (laboratory values)
- รายงานทางรังสีและพยาธิวิทยา
- รายงานผลความคืบหน้าของการรักษา
- เอกสารที่ออกโดยโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล
- ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้ป่วย/ผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ (demographic information)
ข้อมูลข้างต้น อาจมาจากทั้งการซักประวัติในครั้งแรก จากการอัปเดตประวัติการรับการรักษาที่ซิงค์ข้อมูลมาจากเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EMR: Electronic Medical Records ของแพทย์ และจากการอัปเดตข้อมูลของผู้ป่วยเอง
ตัวอย่างหน้าตาของระบบ EHR: Electronic Health Records
ระบบ EHR ในปัจจุบัน มีแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ ผู้ป่วย/เจ้าของข้อมูลสามารถอัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้ตลอดเวลา
ระบบ EHR ทำหน้าที่อะไร?
ระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระบบ EHR ทำหน้าที่เป็นเอกสารบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพและข้อมูลอื่นๆ ของผู้ป่วย ซึ่งเป็นเอกสารที่อัปเดตอยู่ตลอดเวลาและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ผู้ป่วยและแพทย์สามารถเข้าถึงระเบียนสุขภาพได้พร้อมกันและโดยทันที จึงนำไปสู่การตัดสินใจวิธีให้การรักษาได้เหมาะสม แม่นยำ และรวดเร็ว
1. รวมข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยไว้ในที่เดียว (Data Centralization)
ระบบ EHR บันทึกข้อมูลแบบองค์รวมทั้งข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย ข้อมูลเชิงประชากร (Demographic) ข้อมูลด้านสุขภาพ ประวัติการรักษา รวมไปถึงข้อมูลการติดต่อและการชำระเงิน โดยที่ทั้งแพทย์และผู้ป่วยสามารถอัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้
นอกจากนี้ ระบบ EHR ยังเชื่อมต่อกับระบบสารสนเทศโรงพยาบาล หรือ Hospital Information System รวมไปถึงเชื่อมต่อข้อมูลจากทั้งระบบเวชระเบียน และระบบจัดการข้อมูลห้องปฏิบัติการ (Laboratory Information System) ระบบ EHR จึงเป็นระบบที่มีข้อมูลครบ และสามารถแชร์ให้กับโรงพยาบาลหรือผู้ให้บริการทางการแพทย์แห่งอื่นต่อได้
2. รักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Security)
ระบบ EHR เป็นฐานเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อนสูง (Sensitive Personal Information) ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขประจำตัว โรคประจำตัว ประวัติการรักษา ยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ฯลฯ
ระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องเก็บรักษาข้อมูลอย่างเข้มงวด มีการเข้ารหัสที่รัดกุม (encryption) ตรงตามมาตรฐาน HIPAA ในขณะเดียวกัน ก็ให้แพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบและข้อมูลอย่างสะดวกบนอุปกรณ์ที่ปลอดภัย เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแล็ปท็อป เป็นต้น
3. เป็นพอร์ทัลสำหรับผู้ป่วย (Patient Portal)
ทำหน้าที่เป็นพอร์ทัลสำหรับผู้ป่วย (Patient Portal) ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกรอกข้อมูล/ประวัติต่างๆ ที่แพทย์ต้องการก่อนถึงนัดหมายได้จากทุกที่ทุกเวลา ทำให้ร่นระยะเวลาในการคัดกรองและซักประวัติผู้ป่วย และไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนที่เคยให้ไปแล้ว
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังสามารถตรวจสอบผลลัพธ์จากห้องแล็บ รายการยาที่ต้องใช้ นัดหมายเข้ารับการรักษา รวมไปถึงสอบถามกับเจ้าหน้าที่ผ่านระบบ EHR ได้
4. ออกใบสั่งแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Prescribing)
ระบบ EHR สามารถออกใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ไปให้เภสัชกรได้ในทันที นอกจากนี้ เภสัชกรยังได้ข้อมูลการแพ้ยา ประวัติการรักษา และยาอื่นๆ ที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ จึงสามารถจัดยาให้เหมาะสมและทันที ช่วยลดเวลาในการรอรับยาและผู้ป่วยได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น
5. รายงานผล (Reporting)
ทำหน้าที่รายงานการดำเนินงานต่างๆ ให้กับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่ดูแล เพราะ EHR System จะติดตามและบันทึกกิจกรรมต่างๆ เช่น รายชื่อและจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา รายชื่อผู้ป่วยที่ไม่มาตามนัด จำนวนนัดหมาย สถานะการชำระเงิน ฯลฯ
ฟังก์ชันโดยทั่วไปของ EHR ระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์
- ระบบจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic document management) จัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพและการรักษา รวมไปถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของระบบโรงพยาบาล หรือ HIS (Hospital Information System)
- ระบบจัดการงาน (Task management) ช่วยให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะสามารถจดบันทึก (note taking) ดึงข้อมูลจากแล็บมาวิเคราะห์ และติดตามความคืบหน้าของการรักษาของผู้ป่วยได้
- ใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ (E-prescribing) สามารถออกใบสั่งให้กับเภสัชกรได้ในทันที พร้อมข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับสุขภาพ ประวัติการแพ้ยา ข้อมูลการใช้ยา และประวัติการรักษาของผู้ป่วย
- ระบบจัดการบทบาท (Role-based access control) สามารถจำกัดการเข้าถึงข้อมูลตามบทบาทได้ ว่าใครสามารถเข้าถึงข้อมูลได้บ้าง และเข้าถึงข้อมูลได้ละเอียดแค่ไหน
- เชื่อมต่อกับห้องปฏิบัติการ (Lab integration) ซิงค์ข้อมูลกับระบบ LIS ของห้องแล็บได้ ทำให้สามารถดูผลทดสอบจากแล็บได้บนระบบ EHR
- การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ (Electronic communication) เชื่อมการสื่อสารระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการทางการแพทย์เข้าหากัน ผู้ป่วยสามารถติดต่อ สอบถาม แจ้ง/เลื่อนนัดหมาย ผ่านระบบที่ปลอดภัย
- หน้าต่างควบคุมและแสดงข้อมูลทางคลินิก (Clinical dashboard) ผู้ให้บริการฯ สามารถสร้างเทมเพลตหรือปรับหน้าต่างควบคุมสำหรับให้ผู้ป่วยกรอกข้อมูลได้ และใช้เป็นหน้าต่างสำหรับข้อมูลด้านสุขภาพ
- ระบบนัดหมาย (Patient scheduling) ช่วยให้แพทย์หรือผู้ให้บริการฯ จัดการนัดหมาย เลื่อนนัดหมายได้อย่างง่ายดายและเป็นระบบ พร้อมแจ้งเตือนนัดให้กับผู้ป่วยแบบอัตโนมัติ
- ระบบให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย (Patient support) ผู้ป่วยสามารถติดต่อผ่านระบบ EHR เพื่อขอความช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่ได้จากทุกที
- รายงานผล (Reporting) รายงานผลการรักษา ผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการ รวมไปถึง รายงานผลการปฏิบัติงานและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย
ประโยชน์ของการนำระบบ EHR เข้ามาใช้ในโรงพยาบาลและสถานพยาบาล
การนำระเบียนข้อมูลด้านสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EHR: Electronic Health Records) เข้ามาใช้ในโรงพยาบาล ให้ประโยชน์ทั้งกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่และทั้งกับผู้ป่วยหรือผู้เข้ารับบริการฯ
1. ประโยชน์สำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ ลดระยะเวลาในการซักประวัติ ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวินิจฉัยและตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา พร้อมมีเครื่องมือช่วยจัดการงาน จัดการนัดหมาย พร้อมออกใบสั่งยา ฯลฯ
- เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่
- มีข้อมูลผู้ป่วยที่เป็นปัจุบัน
- ลดขั้นตอนและเวลาในการทำงาน
- เพิ่มความเร็วและแม่นยำในการตัดสินใจ
- ลดการใช้เอกสาร
2. ประโยชน์สำหรับผู้ป่วยและผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์
ผู้เข้ารับบริการฯ ได้รับบริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพของตัวเองได้แบบองค์รวม ทั้งประวัติการรักษา ยา ข้อมูลการแพ้ รวมไปถึงสามารถอัปเดตข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง
- ได้รับการบริการที่น่าพึงพอใจ
- เข้าถึงและอัปเดตข้อมูลของตัวเองได้
- ทำนัดหมายและได้รับแจ้งเตือนนัดหมายผ่านระบบได้
- สามารถติดต่อ ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
คำแนะนำในการเลือกระบบ EHR เลือกแบบไหนจึงเหมาะสม คุ้มค่า
ระบบ EHR ที่ดีจะช่วยให้แพทย์ทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพ และผู้เข้ารับบริการฯ ก็ได้รับบริการที่น่าพึงพอใจ แต่การนำระบบ EHR เข้ามาใช้ ก็มีค่าใช้จ่ายสำหรับซอฟต์แวร์ที่ต้องคำนึงถึง เมื่อจะนำระบบเข้ามาใช้ “ความคุ้มค่า” คือ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง
ต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ควรตั้งคำถามเพื่อเลือกระบบ EHR เข้ามาใช้ให้เหมาะสมกับองค์กร
1. ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรในปัจจุบันและอนาคตหรือไม่
ความจำเป็นในการใช้ระบบ EHR ของแต่ละองค์กรอาจแตกต่างกันออกไป เมื่อกำลังตัดสินเลือกผู้ให้บริการซอฟต์แวร์จึงควรถามหรือคำนึงถึงฟังก์ชันของระบบ (functions) ความสามารถในการเชื่อมต่อและทำงานกับระบบอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (integration) ระบบพัฒนาอยู่ตลอดหรือไม่ ความถี่ในการปล่อยฟีเจอร์ใหม่ๆ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือ
2. องค์กรสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้หรือไม่
มีผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ (vendor) ระบบ EHR อยู่หลายเจ้า ซึ่งแต่ละเจ้าก็ฟังก์ชันและราคาที่ต่างกัน หากองค์กรรู้ความต้องการในการใช้ระบบฯ ของตัวเองดีแล้ว สามารถเลือกผู้ให้บริการเจ้าที่ตรงกับความต้องการ แต่ราคาไม่สูงมาก แทนผู้ให้บริการเจ้าที่มีฟังก์ชันเยอะ ราคาสูง แต่องค์กรกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ ควรถามรูปแบบการคิดค่าใช้จ่าย ราคาเริ่มต้น ค่าใช้จ่ายในการลงระบบ การอัปเดตหรือให้ความช่วยเหลือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือไม่
3. การลงระบบและการโอนย้ายข้อมูลทำได้โดยง่ายหรือไม่
ข้อมูลของผู้ป่วยสำคัญมาก และโรงพยาบาลหรือสถานประกอบการทางการแพทย์อาจจำเป็นต้องการบริการต่อไป การโอนย้ายข้อมูลจึงควรทำได้ในระหว่างที่ปฏิบัติงาน องค์กรควรถามถึงแผนในการวางระบบ สิ่งที่อาจกระทบ วิธีรับมือ ระยะเวลา รวมไปถึง การสอนใช้งานระบบ (training)
4. องค์กรจะได้รับความช่วยเหลือรูปแบบไหน
หากต้องการความช่วยเหลือ ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์จะให้ความช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ในรูปแบบไหน เช่น เดินทางมาช่วยเหลือ การให้คำแนะนำผ่านช่องทางออนไลน์หรือโทรศัพท์ ฯลฯ มีค่าใช้จ่ายหรือไม่ หรือมีค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีไหน เป็นต้น
5. ระบบ EHR ที่นำมาติดตั้งผ่านการรับรองหรือไม่
ข้อนี้คืออีกข้อสำคัญที่พลาดไม่ได้ เพราะระบบ EHR ที่จะทำมาใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย ต้องผ่านการรับรองจากสถาบันที่มีอำนาจในการรองรับ เพื่อการันตีว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ สามารถใช้ได้จริงในสถานพยาบาล และมีมาตรการในการรักษาข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย
ใช้ระบบ EHR ที่เหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
“ข้อมูล” คือ สิ่งจำเป็นสำหรับแพทย์และสถานพยาบาลเพื่อตัดสินใจและให้การรักษาแก่ผู้ป่วย ซึ่งข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ไม่ได้รับการจัดการ ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันที ก็ถือว่าไร้ประโยชน์ ระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์หรือ EHR ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาการจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูล ช่วยให้ทั้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผู้ป่วยก็ได้รับการรักษาหรือบริการที่ดีที่สุด
ระบบจัดการข้อมูลในโรงพยาบาลยังมีอีกหลายระบบที่ทำงานรวมกัน อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบโรงพยาบาลต่อในบทความนี้