ธุรกิจและองค์กรต่างๆ ต่างเข้าใจความสำคัญของข้อมูลกันแล้ว และเพื่อที่จะใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ก็ต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกหรือ Insight มาตอบคำถามหรือสนับสนุนการตัดสินใจ
แต่การนำข้อมูลดิบมาจัดวางรวมกัน ยังต้องใช้เวลาในการตีความนานพอสมควร ซึ่งไม่ต้องพูดถึงปริมาณของข้อมูลหรือการใช้ Big Data เลยว่าจะมีข้อมูลมากแค่ไหน และยิ่งมากการตีความข้อมูลก็ยิ่งนานและยากขึ้นไปด้วย
เพื่อที่จะเข้าใจข้อมูลได้ทันที การทำ Data Visualization หรือ การแปลงข้อมูลออกมาเล่าเป็นภาพ จึงจำเป็น เพราะในหลายๆ ชุดข้อมูล เมื่อถูกนำเสนอเป็นภาพ เราก็สามารถเข้าใจได้ทันทีว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น อะไรกำลังไปได้ดี อะไรที่ต้องปรับปรุง สินค้าตัวใดขายดีกว่า เดือนไหนทำยอดได้มาก ก็สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องอธิบายออกมาเป็นถ้อยคำ ดังคำกล่าวที่ว่า
“A picture is worth a thousand words” ภาพหนึ่งภาพสามารถแทนคำพูดได้กว่าพันถ้อยคำ
สำหรับการทำ Data Visualization ก็ถือว่าไม่ไกลจากข้อความนี้นัก
Data Visualization คืออะไร
Data Visualization คือ การนำข้อมูลหรือ Data ที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ประมวลผลแล้วนำเสนอออกมาในรูปแบบที่มองเห็นและทำความเข้าใจได้ด้วยตา เช่น แผนภูมิ รูปภาพ แผนที่ กราฟแสดงเทรนด์ ตาราง วิดีโอ อินโฟกราฟิก (Infographic) แดชบอร์ด (dashboard) ฯลฯ
จุดประสงค์สำคัญของการทำ Data Visualization คือ การนำเสนอข้อมูลให้เข้าใจง่าย ผู้อ่านข้อมูลสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าตัวชิ้นงาน (media) ต้องการสื่อสารอะไร ชี้จุดสำคัญของเนื้อหา และชี้ Insight ข้อเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจน ช่วยให้สังเกตเห็นจุดที่น่าสนใจของข้อมูลได้ง่ายขึ้น ฯลฯ
ตัวอย่าง Data Visualization แสดงการใช้งานโซเชียลมีเดียของประชากรแต่ละประเทศ
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น แผนภูมิแท่งตามรูปข้างบนนี้ แสดงการใช้งานโซเชียลมีเดียแต่ละช่องทางของประชากรแต่ละประเทศ เราจะเข้าใจได้ทันทีว่า ประเทศใดที่มีการใช้งานโซเชียลมีเดียช่องทางใดมากกว่ากันโดยที่ไม่ต้องการตัวเลข รวมถึงเข้าใจได้ทันทีว่าโซเชียลมีเดียช่องทางใดได้รับความนิยมมาก-น้อย ต่างกันอย่างไร
สำหรับการทำ Data Visualization ในปัจจุบัน ก็มีหลากหลายรูปแบบที่ผสมผสานกับการเล่าข้อมูลออกมาเป็นเรื่องราวหรือ “Storytelling” เพื่อเล่าข้อมูลออกมาให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ขนาดคลัสเตอร์จำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในแต่ละจังหวัดของประเทศเกาหลีใต้ ที่เล่าออกมาให้เป็น “จำนวนคน” จริงๆ ที่ช่วยให้เรารู้สึกได้ทันทีว่า คลัสเตอร์ที่ใดระบาดหนักกว่ากัน
ตัวอย่าง Data Visualization แสดงขนาดคลัสเตอร์ Covid-19 ในเกาหลีใต้
ประโยชน์ของการทำ Data Visualization
ภาพและสีสันสามารถเล่าเรื่องได้ง่ายและให้ความรู้สึกได้ดีกว่าข้อความหรือตัวเลข เราทำ Data Visualization ก็เพื่อ “ย่อย” ข้อมูลที่ซับซ้อนและมีอยู่มากมายออกมา “เล่า” ให้เป็นเรื่องราวที่เราเข้าใจได้ง่ายๆ แถมยังช่วยให้ข้อมูลดิบๆ ที่อาจดูน่าเบื่อมีความน่าสนใจขึ้นมา
ซึ่งประโยชน์ของการทำ Data Visualization ก็สามารถสรุปได้หลักๆ ดังนี้
- ช่วยให้เข้าใจข้อมูลได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นข้อมูลที่ย่อยและจัดรูปแบบให้เข้าใจได้ทันทีด้วยภาพ
- ช่วยให้มองเห็น Insight ได้ชัดเจน เห็นข้อเปรียบเทียบ เห็นแนวโน้มหรือเทรนด์ของข้อมูล ช่วยให้อนุมานความสัมพันธ์ของข้อมูลได้ง่ายขึ้น
- ช่วยประหยัดเวลาในการตีความข้อมูลและตัดสินใจ เข้าใจข้อมูลได้โดยที่ไม่ต้องตีความ ลดภาระการค้นหาและเปรียบเทียบข้อมูล
- ช่วยให้สามารถมองเห็นจุดที่น่าสนใจของชุดข้อมูลได้ แม้ยังไม่ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับข้อมูล ก็สามารถมองเห็นข้อมูลที่มีความโดดเด่นบางอย่างขึ้นมาได้จากการทำความเข้าใจภาพ
- ช่วยให้ข้อมูลมีความน่าสนใจมากขึ้น จากการนำเสนอที่มีเรื่องราวหรือใช้สีสันที่ดึงดูด สวยงาม
6 รูปแบบพื้นฐานของการทำ Data Visualization
Data Visualization มีหลากหลายรูปแบบและไม่จำกัดว่าต้องใช้รูปแบบต่อไปนี้ในการนำเสนอข้อมูลเท่านั้น เพราะแต่ละรูปแบบก็มีฟังก์ชันเฉพาะของการนำเสนอข้อมูล บางรูปแบบใช้เปรียบเทียบข้อมูลแต่ละชุดได้ดี บางรูปแบบช่วยให้มองเห็นเทรนด์ได้ง่าย บางรูปแบบช่วยเล่าข้อมูลที่ไกลตัวให้เข้าใจได้ง่ายโดยการเปรียบเทียบให้สอดคล้องกับสิ่งที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน
และ 6 รูปแบบการทำ Data Visualization ต่อไปนี้ คือ รูปแบบพื้นฐานที่ควรทำความรู้จักเพื่อเป็นตัวเลือกในการใช้นำเสนอข้อมูลอย่างที่ใช้กันบ่อย
1. แผนภูมิ (Charts)
Data Visualization รูปแบบแรก คือ แผนภูมิ (Charts) ซึ่งเป็นรูปแบบที่น่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุด และเป็นรูปแบบที่มีหลากหลายชนิดที่เหมาะกับการนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ เช่น Pie chart จะช่วยให้เราเห็นปริมาณความแตกต่างได้ชัดเจน, Comparison chart เหมาะสำหรับการเปรียบเทียบคุณสมบัติหลายๆ ข้อ, มาตรวัด (Gauges) จะช่วยให้เห็นความเข้มข้น ความรุนแรง หรือน้ำหนัก
2. กราฟ (Graphs)
กราฟ (Graphs) คือ subset หรือประเภทหนึ่งของแผนภูมิ โดยกราฟจะทำหน้าที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล 2 ตัวแปร ผ่านแกนแนวนอน (แกน X) และแกนแนวตั้ง (แกน Y) ช่วยให้เห็นเทรนด์สถานการณ์ประกอบกับบริบทได้เป็นอย่างดี
3. ตาราง (Tables)
ตาราง (Tables) ก็เป็นอีกรูปแบบที่ใช้กันมากเพื่อนำเสนอข้อมูลให้ออกมาดูง่าย ตารางประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ คอลัมน์และแถว ซึ่งช่วยจัดการข้อมูลให้เรียบร้อย ช่วยให้มองเห็นบริบทและความสัมพันธ์ของข้อมูลหลายๆ ชุดได้อย่างง่ายดาย
4. แผนที่ (Maps)
แผนที่ (Maps) เป็นการนำเสนอข้อมูลบนแผนที่เพื่อแสดงข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในแต่ละรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากการใส่ข้อมูลลงไปยังพื้นที่ต่างๆ แล้ว ยังสามารถใช้สีสันเพื่อบอกช่วงปริมาณหรือความหนาแน่นของผู้ติดเชื้ออีกด้วย
5. อินโฟกราฟิก (Infographics)
อินโฟกราฟิก (Infographic) คือ การนำเสนอสารสนเทศ (Info: information) ด้วยภาพกราฟิก (Graphic) เป็นรูปแบบการนำเสนอข้อมูลที่ใช้ภาพสื่อแทน ทำให้ผู้อ่านข้อมูลเข้าใจข้อมูลได้ง่ายหรือสามารถทำความเข้าใจผ่านภาพแทนที่คุ้นเคย นอกจากนี้ อินโฟกราฟิกยังเป็นรูปแบบการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ มีการนำเทคนิคการเล่าเรื่อง (Storytelling) มาใช้ ทำให้ข้อมูลน่าสนใจ น่าดึงดูด จึงมักจะใช้เพื่อนำเสนอเนื้อหา ความรู้ หรือเป็นสื่อการเรียนการสอน
6. แดชบอร์ด (Dashboards)
แดชบอร์ด (Dashboards) คือ การนำข้อมูลต่างๆ มาเรียบเรียงและสรุปเป็นภาพ โดยใช้แผนภูมิและกราฟต่างๆ มาใช้นำเสนอ ปัจจุบันแดชบอร์ดเป็น Data Visualization ที่นิยมใช้กับการนำเสนอข้อมูลแบบ Real-time ผ่านซอฟต์แวร์หรือเครื่องมือจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เช่น เครื่องมือการตลาด เครื่องมือบริหารจัดการข้อมูล เครื่องมือติดตามและดูแลเว็บไซต์ ฯลฯ
Data Visualization รูปแบบอื่นๆ
นอกจากรูปแบบการทำ Data Visualization ทั้ง 6 รูปแบบพื้นฐานแล้ว การทำ Data Visualization ยังมีรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย โดยในเว็บไซต์ Tableau ผู้ให้บริการ Data Visualization Tool ก็ได้ยกตัวอย่างการนำเสนอข้อมูลมาอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น
- Area Chart
- Bar Chart
- Box-and-whisker Plots
- Bubble Cloud
- Bullet Graph
- Cartogram
- Circle View
- Dot Distribution Map
- Gantt Chart
- Heat Map
- Highlight Table
- Histogram
- Matrix
- Network
- Polar Area
- Radial Tree
- Scatter Plot (2D or 3D)
- Streamgraph
- Text Tables
- Timeline
- Treemap
- Wedge Stack Graph
- Word Cloud
รวมไปถึงการผสมผสานการทำ Data Visualization หลากหลายรูปแบบในอินโฟกราฟิกและแดชบอร์ด ตามแต่วัตถุประสงค์ของการนำเสนอข้อมูล
และยังมีรูปแบบการทำ Data Visualization อื่นๆ อีกมากมาย ทั้งการนำเสนอข้อมูลแบบสามารถปฏิสัมพันธ์ได้ (Interactive) การทำเสนอข้อมูลผ่าน Virtual Reality ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอ มีเพียงโจทย์เดียวที่ต้องตอบให้ได้ นั่นคือ วิธีการที่ใช้สามารถตอบจุดประสงค์ของการใช้ข้อมูลและตอบโจทย์ผู้อ่าน/ใช้ข้อมูลได้หรือไม่
แนะนำ 5 เครื่องมือ Data Visualization ที่ใช้งานง่าย (ยอดนิยม)
เครื่องมือ Data Visualization ที่หลายๆ คนคุ้นเคยกันดี คงจะหนีไม่พ้นโปรแกรม PowerPoint หรือ Excel ซึ่งเป็น 2 โปรแกรมสามัญที่ใช้ในการจัดเก็บและนำเสนอข้อมูลอยู่เสมอ เพียงแต่ว่า 2 โปรแกรมข้างต้นเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว จึงไม่ข้อแนะนำไว้ในบทความนี้
Data Visualization Tools ที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการและนำเสนอข้อมูลอย่างจริงจัง ครอบคลุมฟังก์ชันต่างๆ ที่ช่วยให้เราสามารถนำเสนอข้อมูลได้ดีและสะดวกยิ่งขึ้น และเป็นเครื่องมือที่นักการตลาด นักธุรกิจ ไปจนถึง Data Scientist ใช้งานจริง
1. Power BI
Power BI เครื่องมือทำ Data Visualization จาก Microsoft เป็นเครื่องมือทำ Data ที่รู้จักกันแพร่หลาย และใช้ในหลากหลายองค์กร เพราะสามารถเชื่อมต่อกับโปรแกรมอื่นๆ ของ Microsoft ได้อย่างไร้รอยต่อ ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรม Excel ที่หลายๆ องค์ใช้ในการเก็บข้อมูล ทั้งนี้ ก็ยังสามารถเชื่อมต่อและดึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ พร้อมกับแปลงไฟล์มาจัดเก็บทำ Data Visualization ได้อัตโนมัติตามที่เราตั้งค่าไว้
Power BI โดดเด่นที่การออกแบบแดชบอร์ดและมีเทมเพลต (template) ให้เราเลือกมากมายเหมาะกับการนำเสนอข้อมูลในลักษณะต่างๆ นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกดูมุมมองที่ต้องการได้หลากหลายจากชุดข้อมูลเดิม ช่วงเพิ่มโอกาสให้มองเห็น Insight หรือจุดน่าสนใจของชุดข้อมูลได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเครื่องมือนี้จะรองรับการใช้งานในหลากหลายอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต สมาร์ทโฟน แต่ก็ไม่รองรับการใช้งานผ่านระบบ MacOS
2. Tableau
Tableau ถือเป็นซอฟต์แวร์ Business Intelligence ยอดนิยมอีกตัวที่มีความโดดเด่นเรื่องการทำ Data Visualization ใช้งานง่าย และใช้งานได้ทั้ง MacOS และ Windows สามารถเชื่อมต่อและดึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลได้หลากหลายเข้ามาประมวลและนำเสนอเป็นรายงานแดชบอร์ด ซึ่งมีเทมเพลตและคลังความรู้การสร้างแดชบอร์ดหลากหลายมากๆ บนเว็บไซต์ของเขา
ซอฟต์แวร์ของเจ้านี้ มักใช้กันในวงการธุรกิจและในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เพราะซอฟต์แวร์สามารถทำงานได้ตั้งแต่การทำ Data พื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง (advanced) แต่ใช้งานไม่ยากจนเกิดไป ด้วยฟีเจอร์ “drag-and-drop” ที่สำคัญ คือ สามารถแสดงผลได้บนเว็บบราวเซอร์ได้อีกด้วย
3. Google Data Studio
ซอฟต์แวร์ Data Visualization จาก Google ที่สะดวกใช้งานมากๆ สามารถเชื่อมต่อแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวกง่ายดาย โดยเฉพาะแหล่งข้อมูลของ Google เอง เช่น Google Analytics, Google Search Console, Google Ads, YouTube และ Digital Marketing Tool เจ้าอื่นๆ อีกหลายร้อยตัว เป็นเครื่องมือทำ Data Visualization ที่เหมาะสำหรับการทำการตลาดออนไลน์เป็นอย่างย่ิง ใช้งานง่าย สามารถ “drag-and-drop” ได้
ข้อดีอีกข้อของ Google Data Studio คือ เราสามารถใช้งานได้ฟรี เพียงแค่มีบัญชี Gmail ทำให้มีหลากหลายเอเจนซีการตลาดและหลายองค์กรก็ใช้เครื่องมือนี้ ช่วยให้มี resource ให้เรียนรู้การใช้งานและตัวอย่างมากมายในการสร้างแดชบอร์ด อย่างไรก็ตาม เครื่องมือนี้ยังไม่โดดเด่นเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะฟีเจอร์หลัก คือ การรวบรวมและนำเสนอออกมาเป็นแดชบอร์ดที่เราตั้งค่าไว้
4. Zoho Analytic
Zoho ซอตฟ์แวร์ CRM และ BI: Business Intelligence ที่พัฒนาเป็น Zoho Analytics เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลและทำ Data Visualization จุดเด่นขอซอฟต์แวร์ตัวนี้ จึงหนีไม่พ้นการจัดการข้อมูลลูกค้าหรือ CRM ช่วยธุรกิจให้เข้าใจลูกค้า รู้ Customer Insight ได้ดีและง่ายขึ้น รวมไปถึง Business Performance ด้านต่างๆ
เช่น Collaborative Analytics, Sales, Conversational Analytics ฯลฯ และยังมีฟีเจอร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งได้แก่ การทำความสะอาดข้อมูลและจัดการข้อมูลโดยอัตโนมัติ, การรวม Business Insight จากเครื่องมืออื่น (unified business insight), การทำสไลด์นำเสนอรายงาน (data slideshows)
5. Endlessloop
“Endlessloop” คือ อีกหนึ่งรูปแบบของการทำ Data Visualization ในการทำรายงานและแดชบอร์ดข้อมูล
โดยแนวคิดของ Endlessloop คือ การต่อยอดจาก Sales Funnel ที่ปกติแล้ว จะสิ้นสุดที่ลูกค้า “ซื้อ / ไม่ซื้อ” มาต่อลูปออกแบบให้ลูกค้าหรือ User กลับเข้ามา “ซื้อ” ต่อ ทำให้การทำการตลาดและการขายยังไม่สิ้นสุดและเห็นผลลัพธ์ของการสนับสนุนการขาย
Endlessloop เหมาะสำหรับงานการตลาด สามารถเชื่อมโยงกับซอฟต์แวร์การตลาด CRM ซอฟต์แวร์ช่วยขายได้ และถือเป็นอีก Data Visualization Tool ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะเหมาะกับธุรกิจของคุณก็ได้
ทำ Data Visualization อย่างไรให้สร้าง Impact กับธุรกิจ
จะทำ Data Visualization ให้สร้าง Impact ได้จริงในธุรกิจหรือองค์กร ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามของการนำเสนอ สีสัน หรือองค์ประกอบต่างๆ เพราะจุดประสงค์หลักของการนำเสนอข้อมูล คือ การใช้ข้อมูล การนำเสนอข้อมูลจะต้องช่วยให้เราตอบคำถามหรือโจทย์ของธุรกิจได้
ในเว็บไซต์ informationisbeautiful ก็ได้สรุป 4 องค์ประกอบสำคัญของการทำ Data Visualization ออกมาเป็นรูปที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจ ได้แก่
- Information หรือสารสนเทศ ที่เปรียบเสมือนสารตั้งต้นหรือวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องผ่านการจัดเก็บ การจัดการ และการทำความสะอาดข้อมูลให้เรียบร้อย พร้อมใช้งานก่อน
- Story เรื่องราวหรือแนวคิดในการนำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจ ที่ผ่านการย่อยเพื่อเล่าให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บทความ รายงาน ฯลฯ
- Goal เป้าหมายและความสามารถในการใช้งาน (function) มีสารตั้งต้นแล้ว ย่อยแล้ว แต่ถ้าหากไม่ได้นำเสนอให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ก็ไร้ประโยชน์ เมื่อเลือกวิธีการนำเสนอข้อมูลต้องทบทวนว่าสามารถตอบโจทย์หรือคำถามได้หรือไม่
- Visual form การเล่าออกมาเป็นภาพด้วยรูปทรง รูปร่าง ภาพต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจและสิ่งสุดท้ายของกระบวนการ เป็นขั้นตอนเลือกรูปแบบการทำ Data Visualization มาใช้นำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจ เข้าใจง่าย ช่วยให้มองเห็น Insight และจุดที่น่าสนใจของข้อมูลได้อย่างชัดเจน
แม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีอย่าง Data Visualization Tool ที่ช่วยให้เราทำแดชบอร์ดหรือรายงานข้อมูลได้อย่างสะดวกง่ายดาย แต่ก็ใช่ว่า แดชบอร์ดเทมเพลตหรือตัวอย่างการนำเสนอข้อมูลขององค์กรอื่นจะใช้งานได้ดีกับองค์กรของเรา สิ่งสำคัญ คือ การทบทวนวัตถุประสงค์การใช้งานข้อมูลกับการนำเสนอข้อมูล
1stCraft เป็นผู้ให้บริการ Data Management Software สำหรับองค์กรต่างๆ ทั้งธุรกิจ โรงพยาบาล คลิกนิก โรงงาน ฯลฯ แต่ละอุตสาหกรรมต้องการใช้ข้อมูลที่แตกต่างกันไป ซอฟต์แวร์ของเราสามารถปรับแต่ง (customize) สถาปัตยกรรมหรือกระบวนการเก็บและจัดการกับข้อมูล รวมไปถึงการปรับแต่งแดชบอร์ดรายงานข้อมูลได้
คุณสามารถปรึกษาเรื่องการใช้งานซอฟต์แวร์และการจัดการข้อมูลภายในองค์กรได้ ที่นี่